นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 62 เติบโต 5% ซึ่งคาดว่าจะได้รับปัจจัยหนุนของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการต่างๆของภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติตามมา ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และในปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้งก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารและสานต่อโครงการต่างๆ ทำให้ภาพการลงทุนในประเทศมีการเดินหน้ามากขึ้น อีกทั้งในช่วงการเลือกตั้งคาดว่าจะมีการจับจ่ายที่คึกคัก ทำให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ดีขึ้น
โดยที่ธนาคารคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 จะขยายตัวได้ 4.2% จากแรงหนุนการลงทุนภาครัฐที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงของภาคส่งออกที่อาจจะเกิดการชะลอตัวได้ จากแรงกดดันของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งเริ่มเห็นผลมาบ้างแล้วและกระทบมาถึงการส่งออกไทยด้วย โดยที่ตัวเลขการส่งออกในช่วงเดือนก.ย.ที่ออกมาหดตัว 5% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่ามีโอกาสได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะต้องติดตามกำลังซื้อของกลุ่มรากหญ้าว่าจะฟื้นขึ้นได้หรือไม่
"ภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้ามีความเป็นห่วงว่าจะมีโอกาสไม่ดีกว่าปีนี้ก็ได้ เพราะการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบมากจากสงครามการค้า ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าจะไปกระทบต่อลูกค้าในกลุ่มส่งออก และไปถึงลูกค้าเอสเอ็มอีด้วย ซึ่งแม้ว่าการลงทุนรัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนได้ แต่หากภาคส่งออกที่มีสัดส่วนมากไม่ดี ก็ฉุดภาพรวมของเศรษฐกิจได้"นายเดชา กล่าว
ขณะเดียวกันธนาคารจะหันมาเน้นการปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยหลายรายขยายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตในการลงทุนใหม่ๆ และกระจายความเสี่ยง โดยจะเน้นในกลุ่มประเทศที่ธนาคารได้ไปเปิดสาขา ซึ่งธนาคารได้เล็งเห็นว่าในประเทศอินโดนีเซียและเมียนมา มีผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำ พลังงาน และน้ำมัน ซึ่งเป็นโอกาสของธนาคารในการช่วยสนับสนุนสินเชื่อ และมีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่จะเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจแก๊สในลาวเข้ามาคุยกับธนาคาร ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายสินเชื่อต่างประเทศของธนาคาร
สำหรับโอกาสในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ธนาคารมีความพร้อมที่สามารถรองรับการปล่อยสินเชื่อให้ได้ และมีกลุ่มผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาคุยกับธนาคารด้วยเช่นกัน ซึ่งธนาคารมองว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินถือเป็นโครงการที่จะเสริมศักยภาพของประเทศ ทำให้การคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น และเกิดการพัฒนาที่ดินที่กระจายตัวไปรอบๆเส้นทางรถไฟ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความไม่มั่นใจในเรื่องของความต้องการซื้อหรือความสนใจของประชาชนว่าจะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ในบริเวณรอบๆหรือไม่ และโครงการดังกล่าวหลังจากได้ผู้ชนะการประมูลแล้วจะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนรายอื่นๆเข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นได้หรือไม่
ด้านแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ (NPL) ในปี 62 ของธนาคารมองว่ามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ จากแรงกดดันของภาคการส่งออกที่อาจจะมีการชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อลูกค้าในกลุ่มส่งออก กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และการที่การบริโภคครัวเรือนในประเทศยังไม่กลับมาดีขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีต่อเนื่องมา แต่ธนาคารจะพยายามควบคุมระดับ NPL ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมทั้งจะมีการตั้งสำรองเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร แม้ว่าปัจจุบันธนาคารจะมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) สูงถึง 180% และมีการตั้งสำรองเกินมาตรฐานบัญชี IFRS9 ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 63 ไปมากแล้ว แต่ธนาคารต้องมีการเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อในปี 61 ธนาคารมั่นใจว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ตามเป้า 3-5% โดยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้คาดว่า ความต้องการสินเชื่อจะขยายตัว เพราะภาครัฐมีการเบิกใช้เงินมาก โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟใต้ดินและรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการจับจ่ายในประเทศคาดว่าจะมีการฟื้นตัวในระยะสั้นในช่วงเทศกาลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งหนุนต่อสินเชื่อรายย่อยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้