FETCO ระบุดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลงในเกณฑ์ทรงตัว กังวลนโยบายการค้า-การเงินของสหรัฐฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 5, 2018 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 120-160 ) โดยลดลง 7.23% อยู่ที่ระดับ 113.73

ผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลผลกระทบนโยบายทางการค้าและนโยบายทางการเงินของสหรัฐ ขณะที่มองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

โดยดัชนีกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน มาอยู่ที่ Zone ทรงตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยยังคงอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

ผลสำรวจ ระบุว่า หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนตุลาคม มีทิศทางปรับตัวลดลงตามการปรับตัวลดลงของดัชนีดาวน์โจนส์ที่มีการปรับฐานลดลงประมาณ 10% ขณะที่นักลงทุนกังวลผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และ Bond Yield 10 ปี ที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 3% รวมถึงการติดตามท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐต่อนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดยดัชนีฯลดลงต่ำสุดที่ 1,596 จุด ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,640-1,660 จุดในช่วงปลายเดือน"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และความเชื่อมั่นการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ว่า GDP Growth ยังคงอยู่ที่ระดับ 4.5% แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายนจะปรับตัวลดลง 5.2% เป็นเดือนแรกก็ตาม โดยนักลงทุนยังคงติดตามความคืบหน้าการเจรจานโยบายทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นปัจจัยความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนติดตาม

นอกจากนี้ ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ ภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ทยอยออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดา การออกมาตรการกองทุนพยุงหุ้นของสมาคมหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องของจีน ภาวะเศรษฐกิจของยุโรปโดยเฉพาะกรณีคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกาศไม่เห็นชอบร่างงบประมาณของรัฐบาลอิตาลี ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลดลงแม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ซึ่งจะจำกัดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านเข้าสู่ตลาดน้ำมันดิบโลกก็ตาม

https://youtu.be/OjR3UpE_jDE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ