ทริสฯ คงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ GLOW ที่ "AA-" ยกเลิกเครดิตพินิจ เปลี่ยนเป็นแนวโน้ม "Developing"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 6, 2018 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังยกเลิกเครดิตพินิจ (CreditAlert) "Developing" หรือ "ยังไม่ชัดเจน" ของบริษัทแล้วกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) เป็น "Developing" หรือ "ยังไม่ชัดเจน" แทนอีกด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิต "Developing" สะท้อนถึงแนวโน้มที่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) จะใช้เวลายาวนานมากขึ้นในการซื้อหุ้นของบริษัท หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติไม่อนุมัติในการทำธุรกรรมดังกล่าว

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งย้ำว่า ถ้าหาก GPSC กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สถานะเครดิตของบริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากผู้ถือหุ้นใหม่อาจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายการเงินของบริษัทในอนาคตต่อไปได้ ดังนั้น อันดับเครดิตของบริษัทโกลว์ พลังงาน จะถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของ GPSC เป็นสำคัญ ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีรายได้ที่มั่นคงจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีกับผู้รับซื้อที่มีความน่าเชื่อถือสูง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ณ เดือนกันยายน 2561 บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 3,216.7 เมกะวัตต์ และ 71% ของกำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือนั้นบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าพร้อมกับไอน้ำให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. คิดเป็น 55%-60% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากลูกค้าอุตสาหกรรมคิดเป็น 25%-30% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการจำหน่ายไอน้ำและน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม

รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. มีความแน่นอนและสามารถคาดการณ์ได้เนื่องจากมีเงื่อนไขของสัญญาที่สำคัญ เช่น ระบุปริมาณขั้นต่ำในการรับซื้อไฟฟ้าและมีกลไกในการส่งผ่านราคาเชื้อเพลิงให้แก่ผู้รับซื้อ โดยสัญญาที่มีกับ กฟผ. นั้นมีอายุระหว่าง 2-19 ปี ส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมก็เป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงของบริษัทด้วยเช่นกันเนื่องจากมีสัญญาระยะยาวและลูกค้าก็มีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แน่นอนเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าปิโตรเคมีรายใหญ่ในเขตมาบตาพุด

มีประวัติการดำเนินงานที่มั่นคง ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงแข็งแรงโดยพิจารณาจากค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมโดยเฉลี่ยอยู่สูงกว่า 95% ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer - IPP) 2 โรงซึ่งได้แก่ โรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี และโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ก็มีค่าอยู่ในช่วง 93%-96% ในปีที่ไม่มีการหยุดซ่อมตามแผน ระดับความพร้อมจ่ายที่สูงและสม่ำเสมอดังกล่าวบ่งบอกถึงความสามารถของบริษัทในการจ่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรที่มีความแน่นอนและสามารถคาดการณ์ได้

ความเสี่ยงจากราคาเชื้อเพลิงที่จำกัด รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมของบริษัทซึ่งคิดเป็นประมาณ 25%-30% ของรายได้รวมนั้นมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ความเสี่ยงนี้เกิดจากความเป็นไปได้ที่ราคาจำหน่ายไฟฟ้าและต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะไม่สอดคล้องกัน ทั้งนี้ ราคาค่าไฟฟ้าที่บริษัทจำหน่ายจะอ้างอิงกับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งมีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่สามารถปรับได้เป็นส่วนประกอบ โดยค่าไฟฟ้าผันแปรถูกกำหนดมาเพื่อใช้ชดเชยค่าเชื้อเพลิงที่ผันผวนให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน อย่างไรก็ตาม การปรับค่าไฟฟ้าผันแปรนั้นมีความล่าช้า อีกทั้งเวลาและขนาดของการปรับก็จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ดังนั้น อัตรากำไรของรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมของบริษัทจึงมีความผันผวนมากกว่ารายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ.

รายได้มีแนวโน้มลดลง ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทมีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วันซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ รายได้จากค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าตามที่ระบุไว้ในสัญญานั้นจะปรับลดลงประมาณ 30% ในระหว่างปี 2562-2563 นอกจากนี้ กำลังการผลิตตามสัญญาภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer – SPP) ยังมีแนวโน้มที่จะลดลงด้วยเช่นกันเนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 4 ฉบับที่มีกำลังการผลิตรวม 230 เมกะวัตต์จะครบกำหนดอายุในปี 2564-2565 ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ ณ เดือนพฤษภาคม 2559 ระบุว่าสัญญาที่กำลังจะหมดอายุนั้นมีโอกาสที่จะได้รับการทดแทนด้วยสัญญาใหม่ อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตในสัญญาใหม่แต่ละฉบับนั้นมีแนวโน้มที่จะจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ ลดลงจาก 55-60 เมกะวัตต์ต่อฉบับในสัญญาเดิม

ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะทยอยลดลงเหลือ 16,000-17,000 ล้านบาทในระยะ 3 ปีข้างหน้าจากที่ระดับ 18,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2559-2560 ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงด้านลบอาจจะเกิดขึ้นจากความล่าช้าในการได้รับสัญญาใหม่มาทดแทนสัญญา SPP ที่กำลังจะหมดอายุ หรืออาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดของสัญญาใหม่ที่เป็นไปในเชิงลบเนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาที่จะมาทดแทนนั้นยังไม่กำหนดชัดเจน

สถานะการเงินยังคงแข็งแรง ทริสเรทติ้ง คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังคงแข็งแรง เนื่องจากโอกาสในการลงทุนที่จำกัดในประเทศไทย ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินการกู้ยืมเพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดบางส่วนและจะยังคงจ่ายเงินปันผลพิเศษเพื่อที่จะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทให้คงที่ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะยังอยู่ในช่วง 1.5-2.0 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

GPSC ยังคงพยายามที่จะซื้อกิจการของบริษัท การที่ GPSC จะดำเนินการซื้อกิจการของบริษัทให้สำเร็จนั้นยังไม่มีความแน่นอนหลังจากที่ กกพ. มีมติไม่อนุมัติการทำธุรกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ กกพ. มองว่าการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวอาจจะขัดต่อข้อกฎหมายของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานโดยจะเป็นการลดการแข่งขันและจะทำให้ GPSC เกือบมีสถานะเป็นผู้ผูกขาดในการบริหารการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าในพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใดแห่งหนึ่งได้ ทั้งนี้ GPSC ได้ตัดสินใจที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อ กกพ. โดยคาดว่าจะยื่นข้อมูลเพิ่มเติมภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 นี้

GPSC เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักที่อยู่ในเครือของ บมจ.ปตท. (PTT) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน GPSC ได้ประกาศที่จะเข้าซื้อหุ้นจำนวน 69.11% ของหุ้นทั้งหมดในบริษัทโกลว์ พลังงาน และหลังจากนั้นจะทำการเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด (Tender Offer) ของบริษัทด้วย ทั้งนี้ การซื้อกิจการทั้งหมดดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 141,000 ล้านบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต "Developing" หรือ "ยังไม่ชัดเจน" สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของการซื้อกิจการที่กระทำระหว่าง ENGIE ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโกลว์ พลังงาน และ GPSC หลังจากที่ กกพ. ไม่อนุมัติการทำธุรกรรมดังกล่าว ทริสเรทติ้งมองว่ากระบวนการในการอุทธรณ์จะทำให้การซื้อกิจการใช้เวลานานมากยิ่งขึ้นในขณะที่กรอบเวลาของการอุทธรณ์นั้นก็ยังไม่มีความชัดเจน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากผลลัพธ์ของการซื้อกิจการเป็นหลักซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับการอนุมัติขั้นสุดท้ายของ กกพ. แนวโน้มอันดับเครดิต "Developing" หรือ "ยังไม่ชัดเจน" อาจเปลี่ยนเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากการซื้อกิจการถูกสั่งให้ยกเลิก ในกรณีที่การซื้อกิจการได้รับอนุมัติให้ดำเนินการต่อได้

การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นหลังจากที่ทริสเรทติ้งได้ทำการประเมินสถานะเครดิตของ GLOW และผู้ถือหุ้นรายใหม่หลังการซื้อกิจการอย่างครบถ้วนแล้ว หากการซื้อกิจการประสบความสำเร็จ GPSC ก็จะกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท ซึ่งสถานะเครดิตหลังการทำธุรกรรมของ GPSC จะมีผลต่อการกำหนดอันดับเครดิตของบริษัทเป็นอย่างมากโดยเป็นไปตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่มของทริสเรทติ้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ