ตลท.ศึกษาใช้ e-stamp พร้อมเล็งออก DR เข้าจดทะเบียนใน Q4/61 ดึงบจ.เขมรระดมทุมตลาดหุ้นไทยปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 9, 2018 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.อยู่ระหว่างศึกษาการนำอากรแสตมป์ที่ใช้เป็นหลักฐานการเสียภาษีจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเข้าไปอยู่ในระบบอิเล็คทรอนิกส์ หรือ e-stamp ปัจจุบันมีการสรุปหลักการเบื้องต้นร่วมกับกรมสรรพากรแล้วและออกแบบฐานข้อมูล (database) ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าสนใจและระบบดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น ๆ ได้

ขณะเดียวกัน ตลท.อยู่ระหว่างการเตรียมออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt หรือ DR) ซึ่งคาดว่า DR ตัวแรกจะสามารถเข้ามาจดทะเบียนได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในไตรมาสที่ 4/61

ส่วนในปี 62 คาดว่าจะมีบริษัทจากกัมพูชาเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อระดมทุน ซึ่งจะส่งผลให้มีการเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคร่วมกันด้วย

นายภากร กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ ตลท.ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) คือเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับบริษัทที่ต้องการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และเพิ่มศักยภาพและขยายโอกาสการทำธุรกิจ เป็นแหล่งลงทุนที่มีคุณภาพ ให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มระดับชาติและเชื่อมโยงกับภูมิภาคที่ได้มาตรฐานสากล

โดยทิศทางการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ จะต้องมีการนำดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจและสร้างประโยชน์ต่อตลาดทุนไทย ได้แก่ การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการเป็น end-to-end และให้บริการแบบ one-stop service รวมถึงสร้างธุรกิจกับผู้ร่วมตลาดโดยใช้ innovation & new technology ตลอดจนปรับรูปแบบบริการให้เป็น open architecture เพื่อต่อยอดบริการและขยายธุรกิจ และจัดทำข้อมูลในรูปแบบ machine readable เพื่อให้นำไปใช้ต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้จะต้องสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเปิดโอกาสการทำธุรกิจใหม่ร่วมกับผู้ร่วมตลาด ได้แก่ การสร้าง "industry utillity platform" ของตลาดทุน เช่น National Digital ID Proxy และส่งเสริมให้แพลตฟอร์มในตลาดทุนทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้บริการ standardized outsourcing services แก่ผู้ร่วมตลาด

นอกจากนี้ จะต้องมีการยกระดับความสามารถบุคลากรและกระบวนการทำงาน โดยพัฒนาบุคคลากรของตลาดหลักทรัพย์และผู้ร่วมตลาดให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมไปถึงการจัดทำ Regulatory reform เพื่อปรับกฎเกณฑ์ให้ทันสมัย เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจและ streamline process

ขณะเดียวกัน ตลท.จะต้องสร้างจุดขายของตลาดทุนไทยในเวทีโลก จากการสร้างการเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดต่างประเทศ อาทิ การผลักดันให้มี asset ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ และสร้างการรับรู้จุดยืนของตลาดทุนไทยให้เป็น "Market of Well-being" ในระดับสากล พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพเพื่อต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ