นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายครั้งแรก ( IPO) กองทุนเปิดกรุงไทย เอไอ เบรน เพื่อการเลี้ยงชีพ (KT-Brain RMF) ในวันที่ 12-21 พ.ย.61 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท เงินลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท
การลงทุนจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกองทุน RMF คือจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้ เลือกยอดต่ำกว่าได้ ลงทุนสูงสุดต่อปีไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุน ซึ่งเหมาะกับการลงทุนในระยะยาว
กองทุน KT-Brain RMF นโยบายเน้นลงทุนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ( SET) และหรือ ตลาดหลักทรัพย์ MAI โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ กองทุนจะคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนผ่านโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทจัดการในการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ Artificial intelligence (AI) ในการวิเคราะห์ ปัจจัยพื้นฐานจากข้อมูลทางการเงินเป็นรายบริษัท หลังจากนั้นระบบจะทำการคัดเลือกหลักทรัพย์ และจัดพอร์ตการลงทุน เพื่อที่จะพยายามสร้างผลตอบแทนโดยรวมให้เหนือกว่าดัชนีอ้างอิง ( SET Total Return )
กองทุน KT-Brain RMF จะใช้ AI ในการคัดเลือกหุ้น โดยระบบจะทำการคัดเลือกหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ( SET) และ/หรือตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ( MAI) ที่มีจำนวนรวมกว่า 700 หลักทรัพย์ โดยจะทำการคัดเลือกหุ้นจากข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่จะส่งผลต่อราคาหุ้น เช่น อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร อัตราส่วนสภาพคล่อง และอัตราส่วนประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เป็นต้น ระบบจะทำการหาหลักทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างการเติบโตที่ดีให้กับเงินลงทุนเป็นหลัก นอกจากนี้มีความรวดเร็วในการวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทต่างๆ ได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ และยังสามารถขจัดเรื่องอารมณ์ในการตัดสินใจได้อีกด้วย
ทั้งนี้บริษัทได้มีการทำโมเดลจำลองการลงทุน และทำการ Back Test ย้อนหลัง 5 ปี (July 2013- June 2018) กองทุนสามารถให้ผลตอบแทนรวมที่ 63.99% SET TRI อยู่ที่ 29.13% และ SET อยู่ที่ 9.90%
ผู้จัดการกองทุน มีหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อหลักทรัพย์ น้ำหนักการลงทุน รวมไปถึงรายการซื้อขายที่ได้มาจากระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนและเป็นไปตามกฎเกณ์การลงทุน แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น ผู้จัดการกองทุนสามารถเข้าไปแทรกแซงระบบได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารความเสี่ยงของกองทุนเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น การปรับระดับการสำรองเงินสดให้เหมาะสมเพื่อรองรับการขายคืนในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้นักลงทุนต้องการถือครองเงินสด