นักวิชาการมอง บมจ.ปตท.(PTT) ตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไม่ถูกต้อง และคำนวณอัตราค่าเช่าท่อก๊าซแบบเข้าข้างตัวเอง ขณะที่กำไรบริษัทไม่กระทบ ติงนักวิเคราะห์เชื่อผู้บริหารมากไป ไม่หาข้อมูลรอบด้าน
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีให้บมจ.ปตท.โอนท่อก๊าซคืนคลัง ว่า การโอนท่อก๊าซเฉพาะส่วนอยู่บนบก และคำนวณทรัพย์สินเฉพาะที่ได้มาก่อนการแปรรูปถือว่า เป็นการตีความที่ผิดพลาด นอกจากนั้น ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นมากเกินไป โดยไม่ได้พิจารณาผลสูญเสียของประชาชนที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในราคาสูงตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูกบวกภาระต่าง ๆ เข้าไป
ทั้งนี้ จากการที่คณะรัฐมนตรีคาดหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าเช่าในส่วนระบบท่อก๊าซ ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการคิดสูตรค่าไฟฟ้าของไทยคำนวณแบบ Cost Plus ซึ่งขึ้นอยู่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนหลักก็คือ ก๊าซธรรมชาติ
"ควรจะผลักดันให้เปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจากวิธี Cost Plus มาเป็นเพดานราคา เพื่อไม่ให้ ปตท.ผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับประชาชนและผู้บริโภค ขณะที่ ปตท.ไม่ได้มีกำไรลดลง เนื่องจาก ปตท. ใช้วิธีการคิดกำไรแบบผูกขาด" น.ส.สฤณี กล่าวในงานเสวนา เรื่อง"การปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกรณี ปตท. : แนวทางและผลกระทบ"
น.ส.สฤณี กล่าวว่า บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงหุ้น PTT เชื่อข้อมูลจากฝ่ายบริหารของบริษัท ปตท. มากเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมา เนื่องจากหุ้น PTT ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องการฟ้องร้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่อาจจะมีตามมาอีก
"จากที่นักวิเคราะห์ฟังข้อมูลผู้บริหารมากเกินไป ยังไม่เช็คข้อมูลหลายๆด้าน และยังแนะนำซื้อเนื่องจากเชื่อว่าหุ้น ปตท.ได้รับผลกระทบไม่มากนัก แค่ 1-5 บาทต่อหุ้น อาจทำให้นักลงทุนบางกลุ่มเข้าไปซื้อโดยไม่ได้ศึกษาที่ละเอียด ดังนั้น การวิเคราะห์ควรจะมีมาตรฐาน"น.ส.สฤณี กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--