ตลท. เผย"สมคิด"แนะดันธุรกิจเกี่ยวเนื่องเทคโนโลยี-Start Up เข้าตลาดฯ ดึงนลท.หน้าใหม่ พร้อมเชื่อมโยงตลาดภูมิภาค

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 12, 2018 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้ (12 พ.ย. 61) ตัวแทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เข้าชี้แจงต่อนายสมคิด ถึงการปรับตัวของตลาดทุนไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคตที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังติดเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ FinTech, Digital National ID ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), ขั้นตอนของรัฐสภา หรือขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่าง ๆ อยู่

ทั้งนี้ นายสมคิดได้ให้คำตอบว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและต้องการไปผลักดันเรื่องดังกล่าวให้ลุล่วง เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ พร้อมทั้งมีความคาดหวังให้ตลาดทุนไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยมีบริษัทจดทะเบียนมาจากธุรกิจใหม่ ๆ และมีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้น

โดย FETCO ได้เสนอถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจการลงทุนมากขึ้น รวมไปถึงการใช้กลยุทธ์การลงทุนต่าง ๆ เช่น Dollar Cost Average (DCA) เพื่อช่วยในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และการใช้ผลิตภัณฑ์กองทุนรวมต่าง ๆ ที่จะทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นายสมคิด ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้มากขึ้น โดยจำเป็นต้องหากลยุทธ์และวิธีสร้างการรับรู้ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้น รวมถึงมีธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีหรือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ ตลท.จะต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจนต่อไป

นายภากร กล่าวอีกว่า การเชื่อมต่อระหว่างตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศในอนาคตจะเป็นการเชื่อมโยงโดยการเอาผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามตลาดกัน (Cross Listing) เช่น กองทุน ETF,ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR), ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมต่อได้สะดวกและง่ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV, ในภูมิภาคอาเซียน และนอกภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตลท.มีเป้าหมายในการสร้างสภาพคล่องข้ามตลาดให้สามารถเกิดขึ้นได้

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ FETCO เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นอื่น ๆ นอกจากที่รองนายกรัฐมนตรีได้เสนอมาแล้ว FETCO ได้เสนอถึงประเด็นการสร้างเงินออมระยะยาว หรือการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งจะเข้ามาช่วยเติมเต็มปัญหาเงินบำนาญในประเทศไทยที่มีความไม่ครอบคลุม ไม่เพียงพอ และไม่ยั่งยืน และเป็นเม็ดเงินที่เป็นภาระงบประมาณภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการผลักดันพ.ร.บ.กบช.นี้ออกมาได้ จะเป็นส่วนเสริมระบบบำนาญให้เข้มแข็งขึ้นได้

"ก็อยู่ในขั้นตอนที่เข้าไปเสนอสนช.ก็เลยฝากท่านว่า ถ้าสามารถเข้าในสนช.ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ก็น่าที่จะส่งผลดีต่อตลาดทุนด้วยในระยะยาวได้ ก็คงจะเป็นการสร้างเงินออมระยะยาว" นายไพบูลย์ กล่าว

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจและได้นำเสนอไป คือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งเป็นการสร้างเม็ดเงินระยะยาวในระบบของตลาดทุนค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะหมดอายุภายในปี 62 ซึ่งมองว่าจำเป็นต้องมีการรณรงค์ส่งเสริมให้มีการลงทุนมากขึ้น FETCO จึงเสนอให้สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนประเภทใหม่ โดยให้มีการลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastucture Fund) และในหุ้นที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (THSI Index) รวมกันเป็น 50% ของพอร์ตการลงทุน

และได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นการให้สามารถขอคืนภาษีได้ส่วนหนึ่ง หรือ 20% ของเงินลงทุน แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของกองทุนประเภทเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ