นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ปัจจุบันได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและผ่านร่างฯกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ระหว่างรอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมาย ซึ่งมองว่าหลังจากนี้จะมีขั้นตอนค่อนข้างมาก ขณะที่เหลือเวลาไม่มากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมจัดการเลือกตั้งเร็วๆ นี้
ดังนั้น FETCO มีความคาดหวังให้ สนช.เห็นความสำคัญของ กบช.และเร่งนำไปพิจารณา เนื่องจากการออมเงินในไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยเฉพาะเงินออมหลังเกษียณ ประกอบกับในอีก 3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันรายได้หลักของผู้สูงอายุจากการสำรวจยังมาจากบุตรหลานและจากการทำงานต่อเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งสองส่วนคิดเป็น 60% ของรายได้ผู้สูงอายุ โดยมองว่ามีความไม่ยั่งยืน
ทั้งนี้ พ.ร.บ.กบช.ฉบับใหม่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มและมีผลบังคับใช้ให้นายจ้างทุกคนจำเป็นที่จะต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน จากปัจจุบันมีแรงงานในระบบจำนวนกว่า 17 ล้านคน แต่มีนายจ้างที่ตั้งกองทุนให้กับพนักงานเพียง 3 ล้านคน จึงมีความจำเป็นต้องให้ พ.ร.บ.นี้ประกาศมีผลบังคับใช้ ให้การจัดตั้งกองทุนเป็นภาคบังคับ
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การจัดตั้ง กบช.จะทำให้ประชาชนที่เกษียณแล้วมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น ซึ่งหลักของการมีระบบบำนาญที่ดีคือจะต้องครอบคลุมแรงงานทั้งในและนอกระบบ ถึงแม้ว่าปัจจุบันแรงงานในระบบจะมีรายได้หลังเกษียณจากประกันสังคม แต่ได้เพียงเดือนละหลักพันบาทเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องมีเงินออมอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้จะต้องสร้างรายได้ในระดับที่เพียงพอหลังเกษียณ มีความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว และไม่สร้างหนี้สินภาครัฐด้วย
นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุน กบช.จะไม่เป็นภาระของรัฐบาล เนื่องจากเป็นเงินสมทบระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รัฐบาลเพียงออกเป็นกฎหมายบังคับเท่านั้น และรัฐบาลสามารถใช้เงินภาษีไปดำเนินงานด้านอื่นในการพัฒนาประเทศได้ จากไม่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้
https://youtu.be/e2k_4T_qu3k