นักวิชาการมอง บมจ.ปตท.(PTT) ตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไม่ถูกต้อง และคำนวณอัตราค่าเช่าท่อก๊าซแบบเข้าข้างตัวเอง ขณะที่กำไรบริษัทไม่กระทบ ติงนักวิเคราะห์เชื่อผู้บริหารมากไป ไม่หาข้อมูลรอบด้าน
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีให้บมจ.ปตท.โอนท่อก๊าซคืนคลัง ว่า การโอนท่อก๊าซเฉพาะส่วนอยู่บนบก และคำนวณทรัพย์สินเฉพาะที่ได้มาก่อนการแปรรูปถือว่า เป็นการตีความที่ผิดพลาด นอกจากนั้น ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นมากเกินไป โดยไม่ได้พิจารณาผลสูญเสียของประชาชนที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในราคาสูงตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูกบวกภาระต่าง ๆ เข้าไป
ทั้งนี้ จากการที่คณะรัฐมนตรีคาดหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าเช่าในส่วนระบบท่อก๊าซ ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการคิดสูตรค่าไฟฟ้าของไทยคำนวณแบบ Cost Plus ซึ่งขึ้นอยู่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนหลักก็คือก๊าซธรรมชาติ
"ควรจะผลักดันให้เปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจากวิธี Cost Plus มาเป็นเพดานราคา เพื่อไม่ให้ ปตท.ผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับประชาชนและผู้บริโภค ขณะที่ ปตท.ไม่ได้มีกำไรลดลง เนื่องจาก ปตท. ใช้วิธีการคิดกำไรแบบผูกขาด" น.ส.สฤณี กล่าวในงานเสวนา เรื่อง"การปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกรณี ปตท. : แนวทางและผลกระทบ"
น.ส.สฤณี กล่าวว่า บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงหุ้น PTT เชื่อข้อมูลจากฝ่ายบริหารของปตท. มากเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมา เนื่องจากหุ้น PTT ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องการฟ้องร้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่อาจจะมีตามมาอีก
"จากที่นักวิเคราะห์ฟังข้อมูลผู้บริหารมากเกินไป ยังไม่เช็คข้อมูลหลายๆด้าน และยังแนะนำซื้อเนื่องจากเชื่อว่าหุ้น ปตท.ได้รับผลกระทบไม่มากนัก แค่ 1-5 บาทต่อหุ้น อาจทำให้นักลงทุนบางกลุ่มเข้าไปซื้อโดยไม่ได้ศึกษาที่ละเอียด ดังนั้น การวิเคราะห์ควรจะมีมาตรฐาน"น.ส.สฤณี กล่าว
นางชื่นชม สง่าราศี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า แม้ว่า ปตท.ดำเนินการตามคำสั่งศาลแต่ศาลไม่ได้ชี้ชัดในส่วนที่ต้องโอนคืนและให้อำนาจผู้ที่เกี่ยวข้องทำให้มีการตีความในการโอนสินทรัพย์เพื่อประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยไม่รวมท่อส่งก๊าซในน้ำและท่อจำหน่ายทั้งหมดทำให้เกิดข้อสงสัยว่าได้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือไม่
ทั้งนี้ นางชื่นชม ยังตั้งข้อสังเกตว่าควรมีการทบทวนการคืนกรรมสิทธิ์ท่อก๊าซในส่วนของบริษัทร่วมทุนทรานส์ไทย-มาเลเซียที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (สถานะก่อนแปรรูป) ถือ 50% ร่วมกับปิโตรนาสจากมาเลเซีย ซึ่งต้องนับว่าท่อก๊าซส่วนนี้เป็นของประชาชนและรัฐบาลแต่กลับเอามาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ 100% ซึ่งอาจมีการทวงถามและติดตามทวงคืนจากปตท.
อย่างไรก็ตาม จากกระแสข่าวที่กรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าท่อก๊าซในอัตรา 5% ของรายได้และมีการกดดันโดยการคิดค่าเช่าผ่านท่อสูงขึ้น เชื่อว่าคงไม่กระทบต่อกำไรของปตท.เพราะคงมีการผลักภาระให้กับผู้ซื้อก๊าซ คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และส่งผลต่อเนื่องมายังค่า FT ที่ประชาชนต้องจ่าย ขณะที่ ปตท.มีรายได้จากท่อก๊าซต่อปีกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยคิดเป็นต้นทุนเพียง 43% และมีกำไรก่อนหักภาษีถึง 53%
"ปตท. ควรลดกำไรที่ได้ลงเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและเป็น win-win Solution ไม่กระทบประชาชนเพราะที่ผ่านมาปตท.ก็กำไรเกินควรมามานแล้วและควรรื้อเกณฑ์ค่าผ่านท่อให้เป็นธรรม" นางชื่นชม กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--