นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บมจ. ฐิติกร (TK) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/61 บริษัทฯ มีรายได้รวม 960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% และมีกำไร 90 ล้านบาท ลดลง 32.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ การเร่งตัดหนี้สูญและยังมีค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ไตรมาส 3/61 บริษัทมีค่าใช้จ่ายสำหรับการตัดหนี้สูญและตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเท่ากับ 275.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.5% จาก 207.7 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยบริษัทเร่งตัดหนี้สูญเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับงบการเงินของบริษัทในอนาคต เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งโครงการลงทุนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร
อย่างไรก็ตามพอร์ตเช่าซื้อยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง 1.9% ซึ่งยังเติบโตได้สูงกว่าตลาดรถมอเตอร์ไซค์ ที่ปิดไตรมาส 3 ด้วยยอดขายลดลงถึง 1.76% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว ยอดส่งออกเดือนกันยายนหดตัว 5.2% ตัวเลขนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 เติบโตเพียง 2% จากครึ่งปีแรกที่โต 10% อีกทั้งพืชผลเกษตรราคาต่ำ ถึงแม้ว่าจะมีผลผลิตมากกว่าปีก่อนเนื่องจากมีน้ำเพาะปลูกเพียงพอ คาดตลาดรถมอเตอร์ไซด์จะปิดสิ้นปีด้วยยอดขายใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า
"ผลประกอบการของ TK ในไตรมาส 3 นี้ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าจะมีปัจจัยลบหลายด้านเข้ามากระทบธุรกิจของบริษัท แต่ยังสามารถขยายพอร์ตเช่าซื้อได้สวนทางตลาดรถมอเตอร์ไซค์ที่หดตัวลง"
โดยยอดขายมอเตอร์ไซค์ 9 เดือนแรกของประเทศไทยอยู่ที่ 1,366,194 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,390,679 คัน พอร์ตเช่าซื้อไตรมาส 3 ของ TK ขยายตัว 1.9% เทียบกับยอดขายมอเตอร์ไซค์ 9 เดือนแรกที่หดตัวลงถึง 1.76%
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถรักษาคุณภาพของลูกหนี้เช่าซื้อไว้ได้ในระดับสูง โดย ณ 30 กันยายน 2561 มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ค้างชำระเกิน 3 เดือน ต่อลูกหนี้รวมอยู่ที่ 4.81% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.94% โดยมี Coverage Ratio (Allowance for Doubtful Accounts/NPL) เท่ากับ 123% ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับสูงเพียงพอรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
พอร์ตเช่าซื้อในต่างประเทศที่บริษัทดำเนินการให้บริการอยู่ในกัมพูชา และ สปป. ลาว ณ 30 กันยายน 2561 เติบโตได้ 90% จากสิ้นปี 2560 และคิดเป็น 8.6% ของลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนในการขยายสาขาในต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากต่างประเทศให้อยู่ในสัดส่วน 50% ของรายได้รวมในปี 2563 ควบคู่กับการควบคุมต้นทุนอื่นๆ ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวปฐมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน TK มีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยประมาณ 2.5%ต่อปี และสัดส่วนเงินกู้ระยะยาว ต่อ เงินกู้ระยะสั้น ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 58:42 โดยเงินกู้ส่วนใหญ่ประมาณ 96% เป็นแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนหรือ Debt Equity Ratio (D/E Ratio) ของ TK ยังต่ำมากคือเพียง 1.12 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ D/E Ratio ของบริษัทอื่นในธุรกิจเดียวกันที่สูงถึง 6-7 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินที่ TK พร้อมจะรับมือกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
สำหรับตลาดรถมอเตอร์ไซด์ในประเทศไทยปี 2561 คาดว่าจะปิดสิ้นปีด้วยยอดขายใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบบ้าง แต่คาดว่าปัจจัยบวกจากมาตรการระยะสั้นของภาครัฐในการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นช่วงต้นปี 2562 รวมถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ของภาครัฐในระยะยาว น่าจะส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการของกลุ่มบริษัท