นายธีรธัชช์ สิงห์ณรงค์ธร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มสนับสนุน บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับลดเป้ารายได้รวมในปีนี้ลงเหลือ 2.06 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายเดิม 2.4 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากการโอนโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงที่ผ่านมาเกิดการชะลอตัว ดังนั้น บริษัทจึงลดเป้ารายได้จากการโอนคอนโดมิเนียมลงเป็น 6.4 พันล้านบาท จากเดิม 7.2 พันล้านบาท แต่เป้าหมายการโอนโครงการแนวราบยังคงไว้ที่ 9 พันล้านบาทเช่นเดิม
นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อรายได้รวมจากการบันทึกรายได้ของการขายที่ดินให้กับบริษัทร่วมทุน มูลค่า 1.1 พันล้านบาท ซึ่งได้เลื่อนการบันทึกเป็นรายได้ออกไปเป็นช่วงไตรมาส 1/62 ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางบัญชีที่ยังไม่สามารถบันทึกได้ทันในช่วงไตรมาส 4/61 นี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเชื่อว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/61 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุด เพราะบริษัทจะมีการรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) เข้ามาราว 3.61 พันล้านบาท จาก Backlog ที่มีอยู่ทั้งหมด 6.74 พันล้านบาท และยังมีรายได้เสริมจากการเปิดให้บริการโรงแรม Hyatt Regency Bangkok Sukhumvit เข้ามาหนุนผลการดำเนินงานด้วย
ด้านเป้าหมายยอดขายในปีนี้บริษัมมั่นใจว่าทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.12 หมื่นล้านบาท โดยที่ปัจจุบันบริษัททำยอดขายได้แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทเตรียมเปิดโครงการใหม่อีก 4 โครงการ มูลค่า 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการแนวราบ 3 โครงการ และคอนโดมิเนียม 1 โครงการ และในปี 62 บริษัทได้วางงบซื้อที่ดินไว้เบื้องต้น 2-3 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีนี้ที่ใช้ไป 4 พันล้านบาท เพราะบริษัทมีที่ดินในมืออยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ทำให้บริษัทไม่มีความจำเป็นต้องซื้อที่ดินมาตุนไว้มาก
นายธีรธัชช์ กล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น มองว่ามีผลกระทบต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ ลูกค้า และสถาบันการเงิน ซึ่งทุกฝ่ายที่ดีรับผลกระทบจะต้องมีการปรับตัว เพราะเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งบริษัทเองก็อยู่ระหว่างการศึกษาการขายที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าก่อนสร้าง โดยเฉพาะโครงการแนวราบ จากปัจจุบันที่สร้างเสร็จก่อนขาย ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับบริษัทและทำให้ลูกค้ามีระยะเวลาในการเตรียมตัวมากขึ้น ซึ่งจะมีการสรุปแผนงานอีกครั้งในต้นปี 62
ส่วนการที่บริษัทถูกลูกบ้าน 261 ราย ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 2.6 พันล้านบาท จากกรณีทางเข้า-ออกโครงการที่ต้องผ่านที่ดินทางรถไฟ ขณะนี้ศาลอุทธรณ์ได้ได้ยกฟ้องไปแล้ว ทำให้บริษัทไม่จำเป็นที่ต้องตั้งสำรองค่าเสียหายจากคดีดังกล่าว จึงไม่กระทบต่อภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้