PTT มองราคาน้ำมันร่วงอาจกระทบผลงานกลุ่มธุรกิจขั้นต้น พร้อมประเมินราคาปี 62 แกว่งในกรอบ 65-80 เหรียญฯ/บาร์เรล

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 14, 2018 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ในช่วงนี้จนถึงปลายปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบร่วงลงแรงเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอาจจะส่งต่อผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจต้นน้ำ อย่าง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงโดยตรง แต่เชื่อว่าภาพรวมทั้งปีนี้จะไม่ได้กระทบมากนัก เพราะในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้กลุ่ม ปตท.นับว่าสามารถทำผลการดำเนินงานได้ดี

ขณะที่ประเมินราคาน้ำมันดิบในปี 62 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 65-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมีการเมืองระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมัน

"ราคาน้ำมันที่ร่วงแรงเป็นผลจาก geopolitics และประเด็นการค้าระหว่างจีนและอเมริกา ทำให้นักลงทุนพวกเฮดจ์ฟันด์ ถอยขายลงมา ราคาน้ำมันควรจะ 60-70 แถวนี้ไม่ควรจะเป็น 80-90 ตอนนี้ก็ปรับฐานมาอยู่ตรงนี้แล้ว ปีหน้าเราก็ประเมินว่า 65-80 แถว ๆ นี้ไม่เกิน เพราะในเชิงความสามารถการผลิตยังมีอยู่...เรามีการบริหารความเสี่ยงตลอดเวลาไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร แต่ไม่ให้ราคาห่างกันเยอะ แต่หากราคาน้ำมันแตกต่างกันเยอะและเร็ว ก็จะมีปัญหา ราคาเคยสูงและตกลงมาเร็วก็อาจจะมีปัญหาได้ ช่วงนี้ยังพอรับได้อยู่ ไตรมาสสุดท้ายอาจจะกระทบบางบริษัทที่อยู่ต้นน้ำนิดหน่อย แต่เราเก็บมา 9 เดือนได้ดี"นายชาญศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค. ร่วงลง 4.24 เหรียญสหรัฐ หรือ 7.1% ปิดที่ 55.69 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.60 และเป็นการร่วงลงภายในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี หลังจากโอเปกปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปี 62 ประกอบกับความไม่แน่นอนของอุปทานที่อาจปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ปิดเมื่อวานนี้ อยู่ที่ 68.34 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 2.19 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการประเมินทิศทางราคาน้ำมันในปีหน้าจะทรงตัวไม่เกินกรอบ 65-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากปัจจุบันการรวมตัวของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ยังคงมีความแน่นแฟ้นที่จะคงการผลิตให้อยู่ระดับเหมาะสมและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่ให้ถูกหรือแพงเกินไป รวมถึงกำลังการผลิตจากสหรัฐยังคงมีอยู่ แม้ยังติดขัดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปการที่จะส่งออกน้ำมันยังมีปัญหา แต่หากสามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จก็จะทำให้มีปริมาณน้ำมันออกสู่ตลาดได้ นอกจากนี้ในหลาย ๆ ประเทศก็มีแนวโน้มจะผลิตทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมากขึ้น

ขณะที่มองความต้องการใช้น้ำมันของโลกน่าจะยังเติบโตได้ถึงระดับ 100 ล้านบาร์เรล/วันในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 90 ล้านบาร์เรล/วัน โดยความต้องการใช้ในไทยมีเพียงประมาณ 9 แสนบาร์เรล/วัน หรือไม่เกิน 1% ของความต้องการใช้ตลาดโลก ทำให้ไทยไม่สามารถควบคุมทิศทางราคาน้ำมันได้ แต่จะเป็นผู้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน ซึ่งในส่วนของ ปตท.ก็มีทีมงานที่ดูแลและติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อเนื่อง รวมถึงมีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ด้านความคืบหน้าการลงทุนตามโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) เบื้องต้น ปตท.จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมสร้างห้องเย็นเพื่อเพิ่มมูลค่าผลไม้ไทยในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยการนำความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาทำห้องเย็นเก็บผลไม้ โดยคาดว่าโครงการจะตั้งอยู่บริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่ง ปตท.จะนำแผนงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการในวันที่ 16 พ.ย.นี้ หรือในเดือน ธ.ค.นี้

ส่วนความสนใจลงทุนของ ปตท.ในโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธินของการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น ก็ยังต้องติดตามโอกาสและรอดูรายละเอียดของการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่จะมีออกมาในอนาคต ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ และอย่างไร ขณะที่การลงทุนคลัง LNG แห่งใหม่ ตามแผนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ยังต้องรอดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

อนึ่ง แผนการพัฒนาท่าเรือฯ มาบตาพุด ระยะ 3 คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 62-68 โดยใน 3 ปีแรกจะเริ่มงานถมทะเล และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และที่เหลืออีก 2 ปี เป็นการพัฒนาส่วนท่าเรือสาธารณะ และลงทุนโครงการท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal)เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ