นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าเติบโตอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังจากโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย โดยมีเตาหลอมแก้วเพิ่มขึ้น 1 เตา จึงทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน รวมเป็นประมาณ 3,495 ตันต่อวัน ส่งผลดีต่อการขยายตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เช่น ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งยังมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์แก้วอีกเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาคนี้เพียงไม่กี่ราย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและต้องมีความมั่นคงด้านแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอใช้ในการผลิต
ทั้งนี้ โรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรีได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และมีความสามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณมากเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ และมีความยืดหยุ่นในการปรับสัดส่วนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น
"เราให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตภายในโรงงานเดิมให้อยู่ในระดับที่ดี ปรับลดความสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิต ควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นที่ดียิ่งขึ้น พร้อมกับมุ่งเน้นการขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย ส่วนแนวโน้มราคาวัตถุดิบนับจากปัจจุบันจนถึงต้นปีหน้า ประเมินว่ายังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นราคา จึงเชื่อว่าเราน่าจะทำผลการดำเนินงานในอนาคตได้ดี" นายศิลปรัตน์ กล่าว
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ สามารถสร้างผลักดันการเติบโตของผลกำไรได้ดี โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 341.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 183 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 มีการเติบโตของผลกำไรในทิศทางเดียวกัน โดยมีกำไรสุทธิ 84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 69 ล้านบาท แม้ว่ารายได้รวมอยู่ที่ 2,280 ล้านบาท ชะลอตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2,677 ล้านบาท
ผลกำไรช่วง 9 เดือนแรกและไตรมาส 3 ของปีนี้ที่เติบโตได้ดี มีปัจจัยมาจากยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วในกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ (Soft Drinks) และยอดขายจากตลาดต่างประเทศที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับบริษัทฯ มุ่งเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีมูลค่าสูง (High Value Product) และอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญและเทคนิคในการผลิต ตลอดจนได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตภายในโรงงาน ควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และยังมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงหลังจากบริษัทฯ ปิดการใช้งานเตาหลอมแก้วภายในโรงงานจังหวัดระยองที่เปิดใช้มานาน นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากราคาเศษแก้วที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน