นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) เปิดเผยว่า PRINC มีแผนขยายธุรกิจไปสู่เฮลท์แคร์อย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจหลักของ PRINC มาจากธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ โดยคิดเป็นรายได้ถึง 80% ของรายได้รวม ดำเนินการผ่าน บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด บริษัทย่อยในเครือ PRINC โดยมีแผนที่จะเพิ่มโรงพยาบาลเครือข่าย เป็น 20 แห่ง ภายในปี 66
ปัจจุบัน "พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์" มีโรงพยาบาลในเครือ 7 แห่งใน 6 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และ 2 โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ และโรงพยาบาลสหเวช
สำหรับแผนการเติบโตต่อจากนี้จะเน้นการควบรวมกิจการในโรงพยาบาลระดับจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดรองที่ยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชน โดยโรงพบาบาลในเครือ "พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์" จะเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง 60 เตียง แต่มีเป้าหมายที่จะเป็นโรงพยาบาลที่มีความทันสมัย มีความพร้อมที่จะยกระดับระบบฐานข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัลเพื่อรองรับการเข้าสู่เทคโนโลยียุค 5G ที่จะเข้ามาในเร็วๆนี้
ขณะที่ปัจจุบันทุกโรงพบาบาลในเครือได้ปรับเปลี่ยนระบบฐานข้อมูลทุกอย่างให้อยู่ในรูปแบบคลาวด์ มีการเชื่อมข้อมูลประวัติคนไข้ด้วยระบบดิจิทัล ทำให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน "พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์" ถือเป็นเครือโรงพยาบาลแห่งแรกที่นำฐานข้อมูลทุกอย่างเข้าไปอยู่ในระบบคลาวด์
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับระบบด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ซึ่งล่าสุดได้ติดตั้งระบบการบริหารทุนมนุษย์ประสิทธิภาพสูง (Workday Human Capital Management : HCM) ซึ่งเป็นเทคโลโลยีคลาวด์จากเวิร์กเดย์ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและยกระดับประสบการณ์บริการด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ การเลือกใช้ระบบ HCM นี้จะทำให้ พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เป็นเครือข่ายบริษัทแรกในธุรกิจเฮลท์แคร์ของประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อการบริหารจัดการทุนมนุษย์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น ที่สามารถปรับระบบการลงเวลาเข้างานของพนักงานให้ง่ายขึ้นด้วยการลงเวลาผ่านแอพพลิเคชั่น หรือการยื่นเอกสารลางาน การขอแลกเวร การแจ้งคำสั่งงานต่างๆ รวมถึงมีระบบช่วยประเมินพนักงานล้วนสามารถทำได้ผ่านแอพพลิเคชั่น
"เรามองว่าในอีก 5-10 ปี เทคโลโลยี 5G จะเข้ามามีบทบาทต่อการรักษาพยาบาลอย่างมาก เพราะจะทำให้การส่งไฟล์ขนาดใหญ่ เช่นไฟล์เอกซเรย์ หรือข้อมูลคนไข้ รวมถึงสามารถทำการรักษาออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นบริษัทจึงได้เริ่มจากการเอาฐานข้อมูลเข้าไปอยู่ในระบบคลาวด์ เพราะธุรกิจด้านเฮลท์แคร์เป็นธุรกิจที่มีฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลทั้งฐานข้อมูลคนไข้และการจัดการข้อมูลด้านบุคลากร ซึ่งเบื้องต้นเราได้เห็นถึงการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญในด้านการทำงานที่เกี่ยวข้องกับพนักงานและกระบวนการบริหารจัดการของเราอย่างจริงจัง ทั้งยังมีความโปร่งใสและการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยธุรกิจที่แตกต่างกันมากยิ่งขึ้น และในอนาคตจะพัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่การจัดการด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อตอบรับกับวิสัยทัศน์ขององค์กรในการนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจนั่นเอง หากเราสามารถบริหารด้านทรัพยากรบุคคลได้มีประสิทธิภาพก็จะทำให้บุคลากรสามารถนำเวลาไปพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ซึ่งจะสะท้อนออกมายังงานด้านบริการ "นายสาธิต กล่าว