PTT เตรียมเสนอบอร์ดอนุมัติแผนลงทุน 5 ปี (62-66) ในธ.ค.นี้ หลังทบทวนให้สอดคล้องสถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 15, 2018 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมนำเสนอแผนลงทุน 5 ปีใหม่ (ปี 62-66) เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการในเดือนธ.ค.61 ซึ่งเป็นการทบทวนทุกปีตามปกติเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ที่ปัจจุบันมีความผันผวนจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยในช่วง 2-3 เดือน ราคาน้ำมันผันผวนมาก โดยปรับจากราคา 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่กว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปัจจุบัน

สำหรับแผน 5 ปีใหม่ดังกล่าว คาดว่าจะมีการนำ digitalization มาใช้มาขึ้นในช่วงกลางของแผนด้วย

ทั้งนี้ ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของกลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบ ในปี 62 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันโลกน่าจะเพิ่มขึ้นราว 1.1-1.3 ล้านบาร์เรล/วัน จากความต้องการใช้ของภูมิภาคเอเชีย ทั้งจีนและอินเดียที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่เทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกสู่ตลาดยังเป็นไปค่อนข้างยาก ขณะเดียวกันปริมาณการผลิตน้ำมันที่จะออกสู่ตลาดยังค่อนข้างจำกัด ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายจับตาการหารือระหว่างผู้นำสหรัฐ และผู้นำจีน ที่จะมีขึ้นในการประชุมนอกรอบ G20 ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ที่คาดว่าจะมีการหารือประเด็นสงครามการค้า ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางตลาดน้ำมันโลกด้วย

ด้านนายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมโรงกลั่นในปี 62 จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับข้อกำหนดขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่มีมติให้จำกัดกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63

โดยกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันมีทางเลือก 3 ทาง ได้แก่ การเปลี่ยนชนิดน้ำมันดิบ , การผสมน้ำมันดีเซลในน้ำมันเตา เพื่อให้ได้กำมะถันลดลง และการเปลี่ยนหน่วยพัฒนาคุณภาพน้ำมัน ซึ่งแนวทางสุดท้ายจะต้องใช้เงินลงทุนและระยะเวลาดำเนินการ ดังนั้น ในช่วงแรกคาดว่ากลุ่มโรงกลั่นจะใช้แนวทางการใช้น้ำมันดีเซลทดแทน หรือการใช้น้ำมันดีเซลผสมน้ำมันเตาเป็นหลักก่อน

โดยในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์นั้น แม้ปัจจุบันจะมีหน่วย Hydrocracking ซึ่งเป็นหน่วยพัฒนาคุณภาพน้ำมันอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ คงยังต้องนำน้ำมันดีเซลเข้ามาผสมในช่วงแรก เพื่อให้ได้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันลดลงตามมาตรฐาน IMO แต่เมื่อการดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project :CFP) แล้วเสร็จในอีก 5 ปีก็จะรองรับกรณีดังกล่าว โดยปัจจุบันโครงการ CFP ของบริษัทได้ผู้รับเหมาโครงการแล้ว ส่วนการหาผู้สร้างโรงไฟฟ้าขนาด 250 เมกะวัตต์ สำหรับโครงการ อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกผู้ดำเนินการในขณะนี้

นอกจากนี้ ในปีหน้ายังเห็นว่าธุรกิจโรงกลั่นจะต้องปรับตัวด้วยการทำองค์กรให้แข็งแรงและมีต้นทุนต่ำสุด เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทและผลกระทบต่อความต้องการใช้และการผลิตน้ำมันของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ