นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายครัวการบิน บมจ. การบินไทย (THAI) คาดปี 61 มีรายได้จากธุรกิจครัวการบิน ที่ 8,200 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการณ์ที่คาดว่าจะมีรายได้ครัวการบินที่ 8,600 ล้านบาท แต่สูงกว่าปี 60 ที่มี รายได้รวมที่ประมาณ 7,9000 ล้านบาท เนื่องจาก มีผลกระทบจากลูกค้าที่เป็นสายการบินจีน 10 สาย ตั้งแต่เดือนก.ค. ถึงปัจจุบัน ผู้โดยสารลดลง โดยมี Cabin Factor ประมาณ 40% ซึ่งกระทบต่อรายได้ของครัวการบิน
อย่างไรก็ตาม คาดว่า มาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว (Visa On Arrival : VOA) กับ 21 ประเทศ ในระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.61-31 ม.ค. 62 จะช่วยกระตุ้นการเดินทางและยอดรายได้ในไตรมาสที่ 4 /61 ได้
ปัจจุบันครัวการบินบริการให้แก่ 60 กว่าสายการบินมี ลูกค้ากว่า 20 ล้านคนทั่วโลก โดยมี สัดส่วนรายได้จากบริการบนเครื่องบิน 90% ครัวการบินภาคพื้น 10%
ในวันนี้ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายอาหารกล่องและเครื่องดื่มเพื่อให้บริการผู้โดยสารบนรถโดยสารปรับอากาศ ชั้น 1 ระหว่าง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ THAI
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า บขส.ได้ตั้งงบประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับการจัดซื้ออาหารกล่องและเครื่องดื่มบริการผู้โดยสารบนรถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 ทุกมาตรฐาน ในเที่ยวไปและเที่ยวกลับ และได้เปิดประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยมีเอกชนขอรับเอกสารรวม 26 ราย มีผู้เสนอราคา 7 ราย โดยบริษัท การบินไทยเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ที่ 333,826,590 บาท ต่ำกว่างบประมาณ 64,631,259 บาท สัญญา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 61- 30 พ.ย. 64
โดยการบินไทยจะต้องผลิตอาหารกล่องบริการบนรถโดยสารวีไอพี มาตรฐาน 1(ก) ,4(ก) จำนวน 766,270 ชุด และอาหารกล่องบริการบนรถโดยสารปรับอากาศชั้น1 มาตรฐาน 1(พ ) ,4(พ),1(ข), 4(ข) จำนวน 13,587,870 ชุด
นางวรางคณา กล่าวว่า ครัวการบิน ของบริษัทฯ มีความพร้อม ในการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ อย่างมาก ปัจจุบันมีกำลังการผลิตในส่วนของเบเกอรี่ วันละเป็นแสนชุดดังนั้นอนาคต หากบขส.จะเพิ่มรถในฟลีทอีก ก็ยังสามารถผลิตให้ได้ โดยสัญญานี้ระยะ 3 ปี จะสร้างรายให้ฝ่ายครัวการบินกว่า 333 ล้านบาท
ทั้งนี้ การบินไทยมีแผนจะขยายตลาดอาหารกล่อง เช่น บนรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งหากมีการเปิดประมูลในปี 62 บริษัทฯพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแน่นอน
สำหรับความร่วมมือกับบมจ. ปตท.(PTT) ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ของครัวการบิน ในสาขา ปตท. ซึ่งได้ทดลอง 5 สาขาแล้ว และภายใน 2 สัปดาห์นี้ การบินไทยและปตท. จะลงนามความร่วมมือในการขยายสาขาเพิ่มเป็น 16 สาขาและเป็น 60 สาขา ภายใน 2 ปี ซึ่งจากความร่วมมือกับปตท.นั้น คาดว่าจะเพิ่มรายได้ในส่วนของครัวการบินภาคพื้นดินอีกประมาณ 5%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ถือเป็นความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม One Transport One Family และยังเป็นการปรับปรุงคุณภาพบริการ ของ บขส.ด้านอาหารและเครื่องดื่ม ขณะเดียวกัน การบินไทยจะได้ขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าบริการ ระดับเวิลด์คลาส ให้กับผู้โดยสาร รถ บขส. โดยไม่มีการเพิ่มค่าตั๋ว