GPSC มั่นใจผลงานปี 62 โตขึ้นจากปี 61 ตามแผน COD โรงไฟฟ้าเพิ่ม, เลื่อนแผนสร้างรง.แบตเตอรี่ ไปเป็น 2-3 ปีข้างหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 16, 2018 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 62 คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากปี 61 โดยมีปัจจัยหนุนจากการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 62 เข้ามาอีกเกือบ 400 เมกะวัตต์ (MW) จาก 3 โรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำลิก สปป.ลาว ที่จะเริ่ม COD ในไตรมาส 1/62 ,โรงไฟฟ้าชัยยะบุรี สปป.ลาว จะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/62 และศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 จังหวัดระยอง (CUP 4) ซึ่งจะผลักดันให้บริษัทมีกำลังการผลิตที่ COD แล้วเพิ่มเป็น 1,922 เมกะวัตต์ ในสิ้นปี 62 จากสิ้นปี 61 ที่อยู่ระดับ 1,530 เมกะวัตต์ และในปี 63 จะมีกำลังการผลิตที่ COD เพิ่มเป็น 1,940 เมกะวัตต์ จากการมีโรงไฟฟ้านวนคร เฟส 2 เริ่ม COD

อย่างไรก็ตามในปี 62 บริษัทจะเผชิญกับปัจจัยกดดันของต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 61 ตามทิศทางราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีกราว 10% ทำให้บริษัทจะต้องวางแผนการรักษาผลการดำเนินงานไม่ให้กระทบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ พร้อมกับการเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่ ๆเข้ามาเพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคต

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังการผลิตไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ในเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปและเห็นความคืบหน้าในการลงทุนโครงการดังกล่าวภายในปี 62 อีกทั้งยังมีโครงการอื่น ๆ ที่บริษัทสนใจลงทุนในเมียนมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการ Gas to Power ที่จะร่วมกับบมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นโครงการที่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอีกสักระยะหนึ่ง โดยเมียนมาเป็นหนึ่งประเทศที่บริษัทมองเห็นโอกาส และเล็งเห็นถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น

ส่วนแผนการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้นแบบกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมงในประเทศนั้น บริษัทได้เลื่อนแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานออกไป จากกำหนดเดิมจะเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในปี 61 เนื่องจากมองว่าราคาขายแบตเตอรี่ยังอยู่ในระดับที่สูง และไม่มั่นใจว่าจะมีความต้องการซื้อแบตเตอรี่ของลูกค้ามากหรือน้อยเพียงใด ทำให้มีความเสี่ยงในการลงทุนโครงการดังกล่าวอยู่ ส่งผลให้บริษัทไม่เร่งรีบที่จะลงทุน และได้กลับมาทบทวนแผนการลงทุนโครงการดังกล่าวใหม่อีกครั้ง โดยอยู่ระหว่างการพิจาณาขนาดของการผลิตแบตเตอร์รี่ที่เหมาะสม และรูปแบบการลงทุน ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือ การลงทุนเอง หรือการร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าการทบทวนแผนลงทุนดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในปี 62 และคาดว่าจะเริ่มลงทุนก่อสร้างได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ส่วนการยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่เห็นชอบด้วยกับคำขออนุญาตของบริษัทเพื่อการเข้าถือหุ้นของบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30-60 วันถึงทราบผล และหากกกพ.ยกคำร้องที่บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ไป บริษัทจะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งอาจจะพิจารณาขอยื่นคุ้มครองต่อศาลปกครองต่อไป อย่างไรก็ตามบริษัทมองว่าหากไม่ได้ซื้อ GLOW ก็ยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนอื่น ๆ ที่สร้างการเติบโตให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่องได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ