นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยปี 62 เติบโตมากกว่า 10% โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโต คือ สินเชื่อบ้านที่เติบโตในทิศทางที่ดีอยู่ ซึ่งธนาคารเน้นสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านค่อนข้างมาก เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติการผ่อนชำระคืนหนี้ที่ดีอยู่แล้ว และเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ค่อยมีหนี้เสีย ซึ่งคาดว่าในปี 62 สินเชื่อบ้านจะเติบโตได้ 10% โดยที่พอร์ตสินเชื่อบ้านของธนาคารอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อบ้านที่ปล่อยใหม่ในปี 62 คาดว่าจะเติบโต 10% จากปีนี้ที่ปล่อยไป 2 หมื่นล้านบาท
อีกทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงมีการเติบโตขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะในช่วงต้นปีและช่วงเลือกตั้งที่คาดจะมีการจับจ่ายใช้สอยมาก ซึ่งธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตมากกว่า 10% ในปี 62 จากปัจจุบันที่ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลไปแล้ว 7 พันล้านบาท ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ยังคงมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารวางแผนที่จะรุกตลาดมากขึ้นในปี 62 โดยที่พอร์ตเช่าซื้อสินเชื่อรถยนต์ในปัจจุบันอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในปัจจุบันอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับการเตรียมตัวของธนาคารเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ธนาคารวางแผนการระดมเงินฝาก ซึ่งได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งตั้งเป้าในปี 62 จะระดมเงินฝากอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่ธนาคารสามารถระดมเงินฝากได้ 1.11 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้สภาพคล่องของธนาคารลดลงตามไปด้วย จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมแผนการรองรับไว้สำหรับปี 62 โดยวิธีการระดมเงินฝาก และธนาคารยังได้วางแผนเพิ่มสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) เป็น 50% ในปี 64 จากปัจจุบันที่ 25-30% และในปี 62 จะเพิ่มเป็น 30-35%
โดยผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ อัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ธนาคารได้ออกไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ เงินฝากประจำ 24 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.70% ต่อปี เงินฝากประจำ 5 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.65% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำดังกล่าวจะต้องฝากขั้นต่ำ 5 หมื่นบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งธนาคารคาดว่าจะมีเงินฝากเข้ามาจากการทำแคมเปญดังกล่าวภายในสิ้นปี 61 ราว 6 พันล้านบาท
สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายย่อยในปี 62 ธนาคารคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.3-2.4% จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 2.7% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารเน้นการหากลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี รวมทั้งเป็นลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ประกอบกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารเริ่มมีคุณภาพมากขึ้น หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ส่งผลให้หนี้เสียในกลุ่มลูกค้าดังกล่าวลดลง ทำให้ NPL ในปีนี้ลดลงอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนที่ 6% อีกทั้งธนาคารยังมีแผนการตัดจำหน่ายหนี้เสียออกไปในปี 62 ราว 2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นมูลหนี้เสียเดิมที่จะขายไปในปี 61 แต่ราคาที่เสนอซื้อยังไม่ได้ตามที่ธนาคารคาดหวัง ทำให้ธนาคารเลื่อนการขายหนี้เสียออกไปเป็นปี 62 แทน
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันผ่านสาขาธนาคาร (Bankassurance) และการขายกองทุนรวมผ่านสาขาธนาคารในปี 61 ยังคงเติบโตได้ดี โดยรายได้ค่าธรรมเนียมการขายประกันเพิ่มขึ้นเป็น 700-800 ล้านบาท จากปี 60 ที่ 690 ล้านบาท ซึ่งปี 62 ธนาคารตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันผ่านสาขาธนาคารไว้ที่ 1.1 พันล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายกองทุนรวมผ่านสาขาธนาคารยังมีการเติบโตสูงเช่นเดียวกัน ซึ่งปีนี้จะมีรายได้อยู่ที่ 830 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ และในปี 62 ธนาคารตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายกองทุนรวมผ่านสาขาธนาคารไม่ต่ำกว่า 1.05 พันล้านบาท โดยใช้กลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้าและบริการ ซึ่งทำให้ยอดขายประกันและกองทุนรวมของธนาคารเติบโตอย่างต่อเนื่อง
"ปีหน้าธุรกิจรายย่อยของ CIMBT จะโตยังต่อเนื่อง เพราะเราจะใช้กลยุทธ์เริ่มจากเงินฝากของลูกค้า และดึงลูกค้าใหม่เข้ามา ซึ่งเราจะเร่งเครื่องในช่วง 6 เดือนแรกก่อน จริงๆก็เป็นแนวทางเดียวกับปีนี้ และเราเห็นว่าทำได้สำเร็จ ซึ่งจะเห็นว่าทุกอย่างเราโตได้ดี ทั้งสินเชื่อบ้าน กองทุน ประกัน ค่าธรรมเนียม ที่มาจากการใช้กลยุทธ์นี้"นายอดิศร กล่าว