นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจร่วม บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบมจ.เจ้าพระยามหานคร (CMC) กล่าวว่า ราคาหุ้น CMC ในวันเปิดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันแรกปรับตัวลดลง 12% จากราคา IPO ที่ 3 บาท/หุ้น เกิดจากปัจจัยกดดันของภาพรวมตลาดหุ้นและภาวะของหุ้น IPO รวมทั้งมีปัจจัยกดดันที่กระทบต่อหุ้นอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเสริม ทั้งมาตรการเกณฑ์การปล่อยเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการจัดเก็บภาษีที่ดิน ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด
การที่ราคาหุ้น IPO ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาเสนอขายให้กับนักลงทุน เพราะ sentiment ของนักลงทุนในระยะนี้จะเป็นลักษณะของการลงทุนระยะสั้น ซึ่งเป็นการเข้ามาซื้อและก็ขายภายใน 1-2 วัน ทำให้กดดันต่อราคาหุ้น IPO ที่เริ่มซื้อขายในช่วงนี้ แต่คาดว่า sentiment ในลักษณะนี้จะค่อยๆหายไปในช่วง 2-4 เดือนข้างหน้า และจะทำให้ภาวะของหุ้น IPO เริ่มฟื้นขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนนั้นจะยังต้องมองปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นหลัก ซึ่ง CMC ถือว่าเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยที่จะเห็นว่าผลการดำเนินงานของ CMC ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีการประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุน ซึ่งจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 12 ธ.ค. 61
ส่วนดีล IPO ของ MBKET ในปี 62 ที่จะทยอยเสนอขายและเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งตลาดหลักทรัพย์ (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีจำนวน 5 ดีล แบ่งเป็น กลุ่มโลจิสติกส์ 1 ดีล กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง 2 ดีล กลุ่มสตาร์ทอัพเทคโนโลยี 1 ดีล และกลุ่มโรงไฟฟ้า 1 ดีล ซึ่งจะทยอยเข้าซื้อขายตั้งแต่ช่วงกลางปี 62 เป็นต้นไป
นายวิเชียร แพทยานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMC เปิดเผยว่า การปรับตัวลงของราคาหุ้น CMC ในวันนี้อาจจะเป็นเพราะภาวะของตลาดที่เป็นช่วงขาลงส่งผลกระทบมาถึงราคาหุ้นของบริษัท และยังมีปัจจัยกดดันจากมาตรการของภาครัฐที่เข้ามากดดันต่อหุ้นอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ LTV ของ ธปท.ที่ออกมามีผลกระทบต่อบริษัทแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะการพัฒนาโครงการของบริษัทจะเน้นกลุ่มที่เป็น Real Demand และราคาขายของโครงการของบริษัทอยู่ในช่วง 2-5 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่บริษัทยังยืนยันที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน จากการเดินหน้าสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมากำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 162% และได้ประกาศจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้งบริษัทยังตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 62 เติบโต 2 หลัก โดยที่ยอดโอนตั้งเป้าไว้ที่ 3 พันล้านบาท จากปีนี้ที่ 2 พันล้านบาท และยอดขายที่ 8 พันล้านบาท
ส่วนมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ของบริษัทปัจจุบันมีอยู่ที่ 1 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนในช่วงที่เหลือของปีนี้ 600 ล้านบาท และส่วนที่เหลือคาดว่าจะโอนในปี 62 และยังมีสต๊อกที่พร้อมขายและพร้อมโอนรวม 2.6 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทจะทยอยขายออกไป เพื่อสร้างรายได้กลับคืนมาให้กับบริษัท
ทั้งนี้ ในช่วงปี 61-63 บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่จำนวน 10 โครงการ มูลค่าโครงการวม 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด ปัจจุบันบริษัทมีที่ดินในมือรองรับแล้ว 120 ไร่ มูลค่า 1.3 พันล้านบาท ซึ่งจะรองรับการพัฒนาในช่วง 5 ปีนี้
ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มในปี 63 มองว่าไม่กระทบต่อต้นทุนของบริษัท และไม่กระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท เพราะอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ออกมาในช่วง 0.3-3% จะจัดเก็บหลังช่วงหลัง 3 ปีแรก ซึ่งบริษัทจะมีการพัฒนาที่ดินไปเกือบทั้งหมดก่อนการเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินแล้ว