PTTEP ศึกษา M&A แหล่งสำรวจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันออกกลาง-เมียนมา-มาเลเซีย หวังเพิ่มปริมาณสำรอง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 19, 2018 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กาญจนันท์ ปาณานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดทุนและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเข้าซื้อกิจการ (M&A) แหล่งสำรวจปิโตรเลียมในประเทศเมียนมา, มาเลเซีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกกลาง เพื่อเพิ่มปริมาณสำรอง โดยวางงบลงทุนไว้ราวโครงการละ 500-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อีกทั้งยังมองโอกาสการต่อยอดธุรกิจไปในเรื่องของโรงไฟฟ้าก๊าซในประเทศเมียนมาและมาเลเซียอีกด้วย โดยจะเป็นโครงการที่ดำเนินร่วมกันภายในกลุ่ม ปตท.

สำหรับการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากทางภาครัฐ คาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ โดยบริษัทมีความมั่นใจว่าจะเป็นผู้ชนะการประมูลจากข้อเสนอที่ดีที่สุดทั้งในเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงานและเกิดการจ้างงานของคนไทย อย่างไรก็ตาม นอกจากแหล่งบงกชและเอราวัณแล้ว บริษัทก็มองหาโอกาสเข้าประมูลแหล่งสัมปทานในไทยเพิ่มเติมอีก

น.ส.กาญจนันท์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทยังคงเป้าปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่ 310,000 บาร์เรล/วัน หลังในช่วง 9 เดือนแรกทำได้แล้ว 300,338 บาร์เรล/วัน บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้ที่ 72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่คาด EBITDA Margin จะอยู่ที่ 70-75% โดยจะรักษาต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ให้อยู่ระดับ 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ทั้งนี้ บริษัทประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4/61 ยังคงมีความผันผวนสูง โดยคาดจะเคลื่อนไหวในกรอบ 60-85 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งมีปัจจัยบวกจากการที่สหรัฐดำเนินนโยบายคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลา ทำให้ซัพพลายปรับตัวลดลง รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐที่ชะลอตัว เนื่องจากข้อจำกัดด้านท่อขนส่งน้ำมันดิบ ขณะเดียวกันกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ยังปรับตัวลง ส่งผลให้ซัพพลายไม่ได้ขยายตัวมากนัก

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงลบ คือเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ยังมีแรงกดดันอยู่ และดีมานด์ หรือความต้องการใช้น้ำมันก็ไม่ได้สูงมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ จะเห็นได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 61 ลง 0.2% สู่ระดับ 3.7% จากเดิมคาด 3.9% และการปรับลดดีมานด์ของกลุ่มโอเปก โดยปัจจัยดังกล่าวก็น่าจะส่งผลต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 62 ที่คาดจะเคลื่อนไหวที่ 70 เหรียญ/บาร์เรล บวก/ลบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ