บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ในปี 62 วงเงิน 7-8 พันล้านบาท เพื่อบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ระดับ 3.75% จากในอดีตที่ราว 4% สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 61 บริษัทยังคงวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20% จากปีก่อน 12,409.96 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,266.43 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/61 บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหญ่ 4-5 ราย โดยแต่ละรายต้องการที่ดินเฉลี่ย 200-300 ไร่ อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันอยุ่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา ซึ่งอาจมีความล่าช้าทำให้ไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ แต่มองว่าอย่างช้าที่สุดน่าจะเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินได้ไม่เกินไตรมาส 1-2/62 นางสาวจรีพร กล่าวว่า ผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำยอดโอนได้แล้วกว่า 230 ไร่ และอยู่ระหว่างการเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินอีกกว่า 800 ไร่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ยอดโอนที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ประเทศเวียดนามต้องยอดรับว่าอาจต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้กว่า 150 ไร่ เนื่องจากความล่าช้าของใบอนุญาตวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ของภาครัฐท้องถิ่น ทำให้การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าไปด้วย ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดขายที่ดินเพียง 43 ไร่
ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหญ่ อีก 2-3 ราย ที่เตรียมเช่าพื้นรวมกันกว่าที่ 1 แสนตารางเมตร โดยคาดหวังว่าลูกค้าจะเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ได้ราว 4-5 หมื่นตารางเมตร ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถสรุปความชัดเจนได้ในเร็วๆนี้ และหากเป็นไปตามที่คาดการณ์จะส่งผลให้บริษัทมียอดการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มขึ้นทะลุเป้าที่วางไว้ 3 แสนตารางเมตร จากเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ 2-2.5 แสนตารางเมตร โดยปัจุจบันทำได้แล้วกว่า 2.15 แสนตารางเมตร พร้อมกันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการเจรจาร่วมกับทางพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเป็นบริษัททีมีการร่วมทุนกับบริษัทอยู่แล้ว และยังได้รับความสนใจจากบริษัทท้องถิ่นในอินโดนีเซียในร่วมทุนอีกด้วย คาดปี 62 ได้ข้อสรุป ส่วนในประเทศเวียดนามนั้น ในปี 62 บริษัทยังคงเดินหน้าการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตให้ควบคู่ไปกับประเทศไทย ด้านสัดส่วนลูกค้าส่วนใหญ่ในนิคมฯ ประเทศเวียดนามยังคงเป็นญี่ปุ่นและเกาหลี ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าที่มาจากประเทศจีน ไต้หวัน เป็นต้น ประกอบกับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ยังส่งผลบวกต่อบริษัทอีกด้วย เนื่องจากลูกค้าจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และลูกค้าในจีนย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย ซึ่ง WHA มีนิคมอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่รวมถึงใน EEC จะเป็นจุดเด่นสำคัญที่ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเลือกเข้ามาหาบริษัท ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดรวมกัน 9 แห่ง และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อิสเทิร์นซีบอร์ด 3 จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่กว่า 2,197 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับนโยบายโครงการ EEC ภายในไตรมาส 4/61 ทำให้ในปีนี้บริษัทมีนิคมอุตสาหกรรมรวมกันทั้งหมดเป็น 10 แห่ง อย่างไรก็ดี ในขณะที่ต่างประเทศ บริษัทมีนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ และงบลงทุนในระยะ 5 ปี (62-66) เข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะได้รับการอนุมัติแผนงานดังกล่าวจากบอร์ดบริหารภายในช่วงเดือนเดียวกัน ทั้งนี้ จากการปรับเพิ่มเป้าการดำเนินงานใหม่เนื่องจากบริษัทเห็นโอกาสความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่องด้วย