นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) จำนวน 1.6 แสนตันตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยซื้อโดยตรงจากเกษตรกร ลานเท และโรงสกัด จากแหล่งผลิตที่สำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ในราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.62
ทั้งนี้ กฟผ. จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ณ ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง ร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดหาจากเกษตรกรผู้ผลิตที่ลานเท และโรงสกัดที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มรับซื้อตั้งแต่เดือน ธ.ค.61 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยจะใช้เงินจำนวน 2,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่าค่าไฟฟ้า 1,354 ล้านบาท โดยส่วนต่างดังกล่าวจะได้รับชดเชยต้นทุนจากกระทรวงพาณิชย์ 525 ล้านบาท และอีก 829 ล้านบาท จะทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เพื่อให้เป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) ของ กฟผ.โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า
"มาตรการนำ CPO เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกง ส่วนสาเหตุที่ไม่ใช้ในโรงไฟฟ้าราชบุรี เนื่องจากการขนส่ง CPO ไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง จะขนส่งทางเรือ ขณะที่ทาง กฟผ. จะปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อรองรับ CPO ร่วมกับก๊าซธรรมชาติ โดยมีกำลังการผลิต 280 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กำลังการผลิต CPO 144 เมกะวัตต์ และก๊าซ 136 เมกะวัตต์"นายศิริ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังรายงาน ครม.ถึงมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มในปัจจุบัน ได้แก่ สัดส่วนผสมไบโอดีเซลบี7 ที่เพิ่มขึ้นจาก 6.6% เป็น 6.9% ทำให้เพิ่มยอดใช้ CPO เพิ่มขึ้น 8 หมื่นตันต่อปี รวมทั้งไบโอดีเซลบี20 ที่ล่าสุดมีค่ายอีซูซุ เข้ามาพบ และรายงานว่ามีความพร้อมในการใช้ในรถยนต์ นอกจากนี้ค่ายฮีโน่ก็แจ้งว่ามีความพร้อมใช้บี20 เช่นกัน และสามารถใช้ได้ทันที 1 แสนคัน จากทั้งหมด 1.8 แสนคัน ดังนั้นคาดว่าในช่วงเดือน ธ.ค.61-พ.ค.62 การใช้บี20 จะเพิ่มขึ้น หลังจากรัฐเพิ่มส่วนต่างราคาเป็น 5 บาทต่อลิตร
นายศิริ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวที่กระทรวงพลังงานดำเนินการมาทั้งหมดจะช่วยดูซับ CPO จากตลาดรวมจากนี้ถึงเดือน พ.ค.62 จำนวน 4 แสนตัน จากสต๊อกปัจจุบันอยู่ที่ 4.2-4.5 แสนตัน และส่งผลให้ราคาผลปาล์มสด อยู่ที่ 3.25 บาทต่อกิโลกรัม
"ทั้งมาตรการเร่งด่วนในการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันปาล์ม และการส่งเสริมการใช้เพิ่มขึ้นในภาคขนส่งในเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม 2562 จะมีการดูดซับน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นได้ 4 แสนตัน จะช่วยแก้ปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มส่วนเกิน แม้ว่าจะสามารถลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสู่ระดับปกติและพยุงราคาปาล์มทะลายให้อยู่ระดับราคา 3.25 บาทต่อกิโลกรัมได้ แต่สภาพโดยรวมของตลาดน้ำมันปาล์มยังมีปัจจัยกดดันจากการที่สหภาพยุโรปมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้มีการใช้น้ำมันปาล์มในส่วนของอาหารและเชื้อเพลิง จึงยังไม่ควรเพิ่มผลผลิตปาล์มทะลายในช่วงนี้"นายศิริ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ล่าสุดน้ำมันดิบเบรนท์ ลดลง 4.25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาอยู่ที่ 62.75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดูไบ ลดลง 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งกระทรวงพลังงานยังไม่มีนโยบายเรียกเก็บเงินจากน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซล เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม เนื่องจากอัตราเรียกเก็บในปัจจุบันจะครบกรอบวงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาทในอีก 3 เดือนข้างหน้า