บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจปูนซีเมนต์และเม็ดพลาสติก Low Density Polyethylene (LDPE) ตลอดจนการมีกระแสเงินสดภายในที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับภาระหนี้ของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศ และวัฏจักรของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และปิโตรเคมีที่มีลักษณะผันผวนซึ่งทำให้ผลประกอบการของบริษัทมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ การที่บริษัทต้องหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อใช้ชำระคืนเงินกู้เก่าภายในเดือนธันวาคม 2551 ยังเป็นประเด็นกังวล ในขณะที่ความสัมพันธ์ของบริษัทกับสถาบันการเงินต่างๆ จะต้องใช้เวลาสั่งสมใหม่
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative“ หรือ “ลบ“ สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้เก่าของบริษัททีพีไอ โพลีน ทั้งนี้ ความสำเร็จในการหาแหล่งเงินกู้ใหม่ดังกล่าวมีความไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้และนักลงทุน ถึงแม้ว่าคำพิพากษาของศาลอาญาที่สั่งปรับบริษัทเป็นจำนวนเงิน 6,900 ล้านบาทในความผิดฐานละเมิดกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์จะไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทในระยะใกล้ แต่ก็อาจมีผลกระทบในทางลบต่อแผนการหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อนำมาใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ยอดอุปสงค์รวมของปูนซีเมนต์ภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.65% โดยอยู่ที่ 29.2 ล้านตันในปี 2549 อย่างไรก็ตามอุปสงค์รวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 กลับลดลง 4.52% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ 21.3 ล้านตัน ยอดขายปูนซีเมนต์และคอนกรีตของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 14,391 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 15,058 ล้านบาทในปี 2549 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับราคาขายและยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจากธุรกิจปูนซีเมนต์และคอนกรีตปรับลดลงเล็กน้อยจาก 33% ในปี 2548 มาอยู่ที่ 32% ในปี 2549 เนื่องจากราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจปูนซีเมนต์และคอนกรีตปรับลดลงมาอยู่ที่ 31% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายที่ปรับลดลงเพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ ทว่ากระแสเงินสดรับจากธุรกิจปูนซีเมนต์และคอนกรีตยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งแม้ภาคธุรกิจก่อสร้างจะชะลอตัวลง ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีนั้น ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ค่อนข้างดีเนื่องจากปริมาณการผลิต LDPE ในประเทศยังมีจำกัด อีกทั้งส่วนต่างระหว่าง LDPE กับ Ethylene และ Ethyl Vinyl Acetate (EVA) กับ Ethylene ก็ปรับตัวดีขึ้น ปัจจุบันบริษัทใช้กำลังการผลิตเกือบเต็มที่แล้วสำหรับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์และปิโตรเคมี
ทั้งนี้ บริษัทยังไม่มีแผนจะขยายกำลังการผลิตในอนาคตอันใกล้เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการลงทุน ตามข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้นั้น บริษัทจะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหนี้สำหรับการลงทุนที่เกินกว่า 400-600 ล้านบาท จากข้อจำกัดดังกล่าว บริษัทจึงมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมากกว่าการเพิ่มกำลังการผลิต โดยบริษัทได้ลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ไอน้ำหมุนเวียนจากเตาเผาปูนมูลค่าโครงการทั้งสิ้นประมาณ 1,700 ล้านบาทซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2551 และบริษัทประเมินว่าจะสามารถประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 550 ล้านบาท สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีนั้น บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตในส่วนของผลิตภัณฑ์ EVA ให้มากขึ้นเนื่องจากมีอัตรากำไรที่สูงกว่า LDPE
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า โครงสร้างทางการเงินของบริษัททีพีไอ โพลีน ปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากในปี 2549 หลังจากที่บริษัทชำระคืนหนี้ก้อนใหญ่ในเดือนสิงหาคม 2549 ทำให้ภาระหนี้ปรับลดลงจาก 28,992 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2548 มาอยู่ที่ 12,807 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2549 และ 11,098 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2550 ซึ่งนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดรับของบริษัท ณ เดือนกันยายน 2550 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 18.64% มีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 23.40% (ยังไม่ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปี) และอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 8.04 เท่า ถึงแม้ว่าฐานะทางการเงินของบริษัทในระยะยาวจะอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ก็ถูกลดทอนจากความกังวลในเรื่องของการหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อใช้ชำระคืนหนี้เดิมภายในเดือนธันวาคม 2551
ทั้งนี้ ภายใต้แผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม บริษัทต้องชำระหนี้ทั้งหมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 แต่เนื่องจากบริษัทไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องการหาแหล่งเงินกู้ใหม่ได้ก่อนครบกำหนดเวลา ดังนั้นบริษัทจึงได้ยื่นขออนุมัติต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอต่ออายุแผนฟื้นฟูกิจการออกไปอีก 1 ปี และได้รับอนุมัติให้ยืดแผนออกไปโดยวันครบกำหนดคือวันที่ 31 ธันวาคม 2551
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--