ASEAN Capital Markets Forum จัดงานมอบรางวัล ASEAN CG Scorecard ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี Minority Shareholders Watch Group ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการของประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อยกย่องความมุ่งมั่นของบริษัทจดทะเบียนในอาเซียนที่มีการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยยังคงเป็นผู้นำที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดตามมาตรฐาน ASEAN CG Scorecard โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 85.73 คะแนน รองลงมาคือ ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 82.41 และ 78.45 ตามลำดับ
"ปีนี้ถือเป็นอีกปีที่ ASEAN CG Scorecard มีพัฒนาการด้านหลักเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้ม CG สากล นอกจากนี้ยังมีการปรับแนวทางในการพิจารณาให้คะแนน การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักรายหมวดและรายข้อ ซึ่งล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคะแนนการประเมิน จึงน่าชื่นชมที่บริษัทจดทะเบียนไทยยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้" นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการ สถาบันกรรมการบริษัทไทยกล่าว
นอกจากการประกาศผลคะแนนการประเมินแล้ว ในงานดังกล่าวยังมีการมอบรางวัลแก่บริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับ 50 บริษัทแรกที่ได้คะแนน ASEAN CG Scorecard สูงสุด ซึ่งรายชื่อทั้งหมดได้สอบผ่าน Validation Process โดยผู้ประเมินอิสระจากภายนอก ได้แก่ KPMG ซึ่งถือเป็นกระบวนการใหม่ที่ ASEAN CG Scorecard นำมาใช้เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในผลประเมินแก่นักลงทุน โดยใช้วิธีสัมภาษณ์คณะกรรมการเพื่อพิจารณาถึงความสอดคล้องระหว่างการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติจริง ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนที่ติด 50 บริษัทแรกจากประเทศมาเลเซีย 14 บริษัท สิงคโปร์ 12 บริษัท ไทย 11 บริษัท ฟิลิปปินส์ 9 บริษัท และอินโดนีเซีย 4 บริษัท โดยบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้คะแนน CG สูงสุด 5 อันดับแรกของอาเซียน ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า "ก.ล.ต. ในภูมิภาคอาเซียนริเริ่มและสนับสนุนให้มีโครงการ ASEAN CG Scorecard ด้วยเชื่อว่า การประเมินนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และทำให้เป็นกลุ่มประเภทสินทรัพย์ที่ยอมรับของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผลการสำรวจในปี 2017 ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามและการให้ความสำคัญในเรื่องการกำกับดูแลกิจการทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแลและบริษัทจดทะเบียน
นอกจากที่บริษัทไทยได้คะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับหนึ่ง หากพิจารณาบริษัทจดทะเบียนของอาเซียนที่มีคะแนนสูงสุด 70 อันดับแรก ไทยยังคงจำนวนสูงสุดที่ 19 บริษัท นำมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีบริษัทจำนวน 18 และ 16 บริษัทตามลำดับ อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจทำให้เห็นประเด็นที่บริษัทจดทะเบียนไทยสามารถปรับปรุงและปฏิบัติให้ดีขึ้นได้ ซึ่ง ก.ล.ต. จะร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนให้ยังคงรักษาความเป็นผู้นำ CG ในภูมิภาคอาเซียน และมีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หุ้นไทยเป็นหลักทรัพย์ ASEAN ที่น่าลงทุนต่อไป"
นายประสัณห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกรางวัลที่บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ ซึ่งสถาบัน IOD ขอชื่นชมและร่วมแสดงความยินดี อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่บริษัทจดทะเบียนไทยต้องมีการพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นที่ ASEAN ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายค่าตอบแทนและเปิดเผยค่าตอบแทนของผู้บริหาร การกำหนดนโยบายความหลากหลายของคณะกรรมการ เช่น เพศ อายุ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และนำไปปฏิบัติ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย พร้อมติดตามและรายงานผล รวมถึงบทบาทของคณะกรรมการเกี่ยวกับการกำกับดูแลด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยง และ IT ซึ่งสถาบัน IOD จะสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ ASEAN CG Scorecard เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย ASEAN Capital Markets Forum ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนของ ก.ล.ต. ใน ภูมิภาคอาเซียน เพื่อทำการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนหกประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ประเมินบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 100 อันดับแรก ณ วันที่ 31 มีนาคม ทั้งนี้สถาบันกรรมการบริษัทไทยได้รับการพิจารณาจาก ก.ล.ต. ไทยให้เป็น CG Expert และองค์กรผู้ทำการประเมินในนามของประเทศไทย