นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กล่าวถึงการจัดงาน "5G the First LIVE in Thailand by AIS" ทดสอบเทคโนโลยี 5G จะจัดแสดงตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม 2561 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม โดยได้ผนึกกำลังพาร์ทเนอร์ระดับโลก โนเกีย หัวเหว่ย และ แซดทีอี ทดสอบเทคโนโลยี 5G เป็นรายแรก
วันนี้คณะกรรมการ กสทช. ได้อนุมัติให้ ADVANC และโนเกียสามารถเปิดการสาธิต 5G บนคลื่น ความถี่ย่าน 26.5-27.5 GHz ได้อย่างเป็นทางการ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของ 5G ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจทุกระดับ อันจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถเศรษฐกิจและสังคม โดยจะทยอยนำเสนอเทคโนโลยีจากพันธมิตรระดับโลกรายอื่นๆอย่างต่อเนื่อง
ภายในงาน "5G the First LIVE in Thailand by AIS" เริ่มต้นด้วยความร่วมมือกับ NOKIA ผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลก ที่นำการสาธิต 5G ผ่าน 5 รูปแบบนวัตกรรมสุดล้ำ ครั้งแรกของเมืองไทย ประกอบด้วย
1. 5G Super Speed การแสดงศักยภาพที่สำคัญของเครือข่าย 5G เช่น ความเร็วในการรับส่งสัญญาณ (Throughput) และความหน่วง (Latency)
2. 5G Ultra Low Latency – Cooperative Cloud Robot การสาธิตประสิทธิภาพการตอบสนองที่รวดเร็วของเครือข่าย 5G โดยการใช้หุ่นยนต์สามตัวในการหาจุดสมดุล ที่ทำให้ลูกบอลอยู่กึ่งกลางกระดาน การสาธิตแสดงเวลาที่หุ่นยนต์ใช้ในการหาจุดสมดุลผ่านการสื่อสารระหว่างกันโดยใช้เครือข่าย 4G เปรียบเทียบกับเครือข่าย 5G
3. 5G for Industry 4.0 หุ่นยนต์จะมีบทบาทอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 การทำงานร่วมกันของเครื่องจักรจากหลายสายการผลิตต้องการการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความหน่วงต่ำและความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งจะทำให้สายการผลิตทำงานได้เร็วขึ้น ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการสาธิตหุ่นยนต์ YuMi® Dual-Arm Collaborative Robot จาก ABB ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 5G
4. 5G Virtual Reality – immersive video การสาธิต การดูวีดีโอที่แสดงสภาวะเสมือนจริง (immersive video) ผ่านเครือข่าย 5G ผู้ที่ใส่แว่นตา VR จะสามารถมองเห็นได้รอบด้าน 360 องศา การดูวีดีโอ VR ที่มีความคมชัด ต้องการ bandwidth ที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการถ่ายทอดสด หรือ live streaming
5. 5G FIFA Virtual Reality ทดลองความเร็วของเครือข่าย 5G ด้วยตัวคุณเอง โดยการเตะลูกบอล Virtual Reality ที่จุดโทษผ่านเครือข่าย 5G
นายวีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อว่า 5G จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพจากคุณสมบัติ 3 ส่วน
- ยกระดับความเร็วการใช้ดาต้า (Enhanced Mobile Broadband-EMBB) เน้น "ความเร็ว (Speed)"
- ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ (Massive machine type communications-mMTC) เน้นสนับสนุน IoT ที่จะถูกนำมาใช้อย่างมหาศาล
- เพิ่มคุณภาพเครือข่ายให้สามารถตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด (Ultra-reliable and low latency communications) เน้นประสิทธิภาพความเร็วในการตอบสนอง หรือ Low Latency ที่จะตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางการแพทย์ หรืออุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง Self Driving Car อย่างมีประสิทธิภาพ
"เอไอเอสได้เตรียมวางรากฐานเครือข่ายในทั้ง 3 แกนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในแกน Speed ได้เปิดตัว 4.5G ที่เร็วระดับกิกะบิท และ เปิดตัว Massive MIMO 32T32R ครั้งแรกในโลก รวมถึงการเปิดให้บริการ NEXT G พร้อมผนึกกำลังพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตชิปและสมาร์ทโฟน ให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์เร็วแรงระดับกิกะบิทครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในแกน IoT นอกจากการพัฒนาเครือข่ายทั้ง NB IoT และ EMTC แล้ว ยังเป็นรายแรกในไทยที่เปิดให้บริการ IoT เชิงพาณิชย์อีกด้วย ส่วนในแกนการตอบสนอง หรือ Latency เอไอเอสก็ได้เริ่มศึกษาและเป็นรายแรกที่เริ่มต้นปรับโครงสร้างเครือข่ายหลักที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาค (AIS Core Network Architecture Ready for 5G) ให้สามารถสื่อสารตรงไปยังเซิร์ฟเวอร์บริการต่างๆได้ทันที โดยไม่ต้องย้อนกลับมาผ่านศูนย์กลางเครือข่ายในส่วนกลาง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้อัตราการตอบสนองได้เร็วขึ้น เพราะค่า Latency ต่ำ ทำให้เมื่อประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด"นายวีรวัฒน์ กล่าว
นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า การทดสอบเทคโนโลยี 5G ครั้งนี้ คือ 1 ในการเตรียมความพร้อมของเอไอเอส ที่จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ และพร้อมนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน