นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.วางเป้าหมายปริมาณขายปิโตรเลียมในปี 62 ที่ราว 3.2 แสนบาร์เรล/วัน จากระดับ 3.1 แสนบาร์เรล/วันในปีนี้ จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งบงกชที่ได้เข้าถือหุ้นเพิ่มเป็นราว 66.66% ได้เต็มปี หลังจากเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงกลางปีนี้ อีกทั้งจะผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งสิริกิติ์ (S1) เพิ่มขึ้นเป็นราว 3 หมื่นบาร์เรล/วัน จาก 2.7 หมื่นบาร์เรล/วันในปีนี้
อย่างไรก็ตามในส่วนของต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ในปี 62 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาที่ 31-32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากราว 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ เนื่องจากปรับการทำงานเข้าสู่เชิงรุกมากขึ้น หลังจากทิศทางราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูงเกินไปทำให้สามารถเดินหน้าพัฒนาโครงการได้มากขึ้น โดยปีหน้ามีแผนจะเจาะหลุมสำรวจเพิ่มเป็น 9 หลุม จากปีนี้ที่เจาะเพียง 1 หลุม
ขณะเดียวกันบริษัทก็ให้ความสนใจที่จะมองหาปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม โดยได้ยื่นประมูลเพื่อขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในช่วงต้นปี 62 รวมถึงยังมองหาโอกาสการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในแหล่งปิโตรเลียมที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว โดยให้ความสนใจในแถบตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายพงศธร กล่าวว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้น่าจะทรงตัวได้ระดับ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ยังต้องติดตามการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ว่าจะมีการลดกำลังการผลิตน้ำมันหรือไม่ ขณะที่ในช่วงปี 62-63 มองว่าอาจจะยังเห็นปริมาณการผลิตส่วนเกินบ้างหลังจากนั้นราคาน้ำมันน่าจะทรงตัวได้ดีขึ้นในช่วงหลังปี 63 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงราว 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล น่าจะเป็นระดับราคาที่ทุกฝ่ายพอใจและมีเสถียรภาพ โดยในส่วนของปตท.สผ.ที่ผ่านมาก็สามารถควบคุมต้นทุนได้ในระดับที่ดี และยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนแหล่งปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติม รวมถึงการทำ M&A ที่มองว่าตลาดเปิดกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ ปตท.สผ.จะโฟกัสการลงทุนหลักในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่รอบประเทศ และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่การลงทุนที่ไม่มากนักและเริ่มเปิดตัวมากขึ้น อย่าง UAE หรือการกลับเข้าไปลงทุนในโอมานอีกครั้ง ส่วนการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะโฟกัสที่มาเลเซีย เมียนมา ซึ่งรวมถึงความสนใจลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัท Hess Corp ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐ อย่างพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) หากทาง Hess Corp ประกาศขายออกมา
ขณะที่การลงทุนในประเทศยังโฟกัสอยู่กับการยื่นประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณ ที่จะหมดอายุในช่วงปี 65-66 ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในเดือนธ.ค. โดยมั่นใจว่าสิ่งที่เสนอให้กับภาครัฐน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐ ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าปตท.สผ.จะเป็นผู้ที่มีโอกาสชนะประมูล
นายพงศธร กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 62 ปตท.สผ.คาดหวังจะผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision:FID) ในโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้ว 1.5 ล้านตัน/ปี และมีข้อตกลงเบื้องต้นในการซื้อขาย (Heads of Agreement: HOA) ราว 10 ล้านตัน/ปี ซึ่งรวมถึงบมจ.ปตท. (PTT) ที่จะซื้อ LNG จากแหล่งดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อได้สัญญาซื้อขาย LNG ในระดับ 8-9 ล้านตัน/ปี ก็เชื่อว่าจะสามารถประกาศ FID ได้ซึ่งคาดหวังว่าจะอยู่ในช่วงกลางปี 62, โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ,โครงการเซาท์เวสต์เวียดนาม หรือโครงการบล๊อก B ในเวียดนาม ส่วนแหล่งอุบลภายใต้โครงการคอนแทร็ค 4 นั้นยังต้องรอกลุ่มเชฟรอน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ (operator) เป็นคนพิจารณาต่อไป
ส่วนโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในแคนาดา อยู่ระหว่างการทบทวนการลงทุนเพื่อหาผู้ซื้อโครงการดังกล่าว เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง รวมทั้งโครงการแคช เมเปิ้ล ในออสเตรเลีย ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ทั้งการหาพันธมิตรร่วมทุนหรือขายออกไป เนื่องจากออสเตรเลียมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง