เอกชนไทย-ตปท. 18 รายซื้อซองท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มีชื่อ PTTGC-GULF-UNIQ-ITD-EGCO-RATCH-บ.ย่อย TRC

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 23, 2018 10:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ กนอ.ได้เริ่มเปิดขายเอกสารการคัดเลือก Request for Proposal (RFP) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ตั้งแต่วันที่ 9-21 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการเปิดขายซองทีโออาร์เป็นตามแผนที่กำหนดไว้ โดยมีผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ที่สนใจมาซื้อซอง รวมทั้งสิ้น 18 ราย ประกอบด้วย

1. บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

2. บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)

3. บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)

4. บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด

5. บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

6. บริษัท China Harbour Engineering Co.,Ltd.

7. บริษัท Tokyo Gas Co.,Ltd.

8. บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด

9. บริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด 10. บริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด 11. บริษัท Mitsui & Co., Ltd. 12. บริษัท ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น จำกัด 13. บริษัท China Railway Construction Corporation Limite 14. บมจ. ผลิตไฟฟ้า จำกัด (EGCO) 15. บริษัท Boskalis International B.V. 16. บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (RATCH) 17. บริษัท Vopak LNG Holding B.V. 18. บริษัท สหการวิศวกร จำกัด

ทั้งนี้ กนอ.จะมีการจัดประชุมชี้แจงให้กับผู้ซื้อซองทั้งหมด 18 บริษัทเพื่อทำความเข้าใจในข้อกำหนด เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ พร้อมตอบข้อซักถามรายละเอียดต่างๆ ณ สำนักงานใหญ่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ และในวันที่ 28 พ.ย.61 จะนำคณะภาคเอกชนดูพื้นที่โครงการท่าเรือฯมาบตาพุดระยะ 3 ที่จังหวัดระยอง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเขียนข้อเสนอทางเทคนิค ภายใต้ทีโออาร์ที่กำหนดไว้

กนอ.ได้กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา ในวันที่ 6 ก.พ.62 และ คาดว่าการพิจารณาคัดเลือกเอกชนดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะ 3 จะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.62

สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรือฯ มาบตาพุด ระยะ 3 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ตั้งแต่ปี 63-67 โดยใน 3 ปีแรก จะเริ่มงานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ งานถมทะเล งานขุดลอกร่องน้ำเดินเรือ งานก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น เป็นต้น และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และส่วนที่เหลือจะเป็นการก่อสร้างส่วนท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล (Superstructure) โดยการพัฒนาท่าเทียบเรือ วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า ได้แก่ การก่อสร้างท่าเทียบ เรือสินค้าเหลว ท่าเทียบเรือก๊าซ ท่าเทียบเรือบริการ และคลังสินค้า เป็นต้น หากก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ