โบรกเกอร์ต่างเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE) เล็ง Turnaround ปีหน้า (2562) จากยอดขายรถยนต์โดยรวมยังแข็งแกร่งส่งผลดีต่อยอดขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และความล่าช้าของการส่งออกมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิด pent-up orders ในปี 62
ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรของ KCE ในปี 62 ที่ 2,639-2,700 ล้านบาท เติบโตกระโดด 46.9-48% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำไร 1,788 ล้านบาท ลดลง 30% จากปี 60 ที่มีกำไร 2,545 ล้านบาท
ขณะที่ราคาหุ้นร่วงลงสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว จากระยะสั้นผลประกอบการไตรมาส 3-4/61 จะสะดุดไปเล็กน้อย จากมาตรฐานใหม่ของการผลิตรถยนต์ในยุโรปที่เริ่มมีผลตั้งแต่ ก.ย.61 เข้มงวดเรื่องการปล่อย CO2 และมลพิษมากกว่ามาตรฐานเดิม ซึ่งค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ต้องใช้เวลาปรับตัว ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์หดตัวในไตรมาส 3-4 หรืออาจจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/62 แต่หลังจากปรับตัวแล้ว 9 เดือน คาดว่าผลประกอบการงวดไตรมาส 1-2/62 เป็นต้นไปจะพลิกฟื้นตัวขึ้นได้
ราคาหุ้น KCE ปิดเที่ยงวันนี้ที่ 27.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท (+0.92%) ขณะที่ SET +0.05%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) เอเชีย เวลท์ ซื้อ 49.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 40.75 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 40.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 37.00 กรุงศรี ซื้อ 37.00 ทิสโก้ ซื้อ 37.00 ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ซื้อ 36.00 ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ น.ส.อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) กล่าวว่า ในระยะสั้นผลประกอบการไตรมาส 3-4/61 ของ KCE จะสะดุดไปเล็กน้อย จากเกณฑ์ใหม่ของ Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure (WLTP) ที่เริ่มมีผลตั้งแต่ก.ย.61 ทำให้รถยนต์ใหม่ในยุโรปและสหรัฐต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย WLTP ซึ่งจะเข้มงวดเรื่องการปล่อย CO2 และมลพิษมากกว่ามาตรฐานเดิม New European Driving Cycle (NEDC) ซึ่งผู้ประกอบการในยุโรปต้องใช้เวลาปรับตัวกับมาตรฐานใหม่ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์หดตัวในไตรมาส 3-4 หรืออาจจะไปถึงไตรมาส 1/62 แต่หลังจากปรับตัวแล้ว 9 เดือน คาดว่าผลประกอบการงวดไตรมาส 2/62 เป็นต้นไปจะพลิกฟื้นตัวขึ้นได้ ทั้งนี้ ราคาหุ้น KCE ก็ได้ปรับตัวลงไปมากถึง 40% สะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว โดยจากระดับราคาสูงสุดที่ 47 บาท ไหลลงมาต่ำสุดที่ 26 บาท ซึ่งหลังการปรับตัวแล้วปีหน้า KCE ก็จัดเป็นหุ้นที่จะ Turnaround ได้ เนื่องจากคาดว่ากำไรสุทธิปี 62 จะอยู่ที่ 2,639 ล้านบาท เติบโตกระโดด 48% จากปี 61 ที่คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1,788 ล้านบาท ลดลง 30% จากปี 60 ที่มีกำไรสุทธิ 2,545 ล้านบาท ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้เป็นแค่ช่วงสั้นเท่านั้น ด้าน บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ฯเชื่อว่าราคาหุ้น KCE ได้สะท้อนปัจจัยลบต่างๆ รวมถึงแนวโน้มผลประกอบการที่อ่อนแอในไตรมาส 4/61 ไปแล้ว จึงมองว่า downside ของราคาหุ้นน่าจะจำกัดอยู่ที่ประมาณ 28 บาท อิงจากกรณีเลวร้ายสุด (EPS ที่ 2.0 บาท) และ P/E ที่ 14x เชื่อว่าถ้าตลาดได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้ในช่วงไตรมาส 1/62 นั่นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับขึ้นของราคาหุ้น KCE ยอมรับว่ายอดขายปีนี้น่าจะต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ เนื่องจากยอดขายที่อ่อนแอในยุโรปจากการนำมาตรฐาน WLTP มาใช้ ซึ่งกำหนดให้รถทุกรุ่นที่ขายในยุโรปต้องผ่านการ re-certified ซึ่งจะทำให้การส่งออกรถยนต์ล่าช้าออกไป ประเด็นนี้จะยังคงส่งผลกระทบต่อยอดขายของ KCE ต่อไปในไตรมาส 4/61 โดยคาดว่ายอดขายของ KCE จะอยู่ที่ US$100 ล้าน (-3% yoy) และน่าจะเป็นไตรมาสที่แย่ที่สุด ในขณะที่คำสั่งซื้อเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในเดือน ธ.ค.ทั้งผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมค่ายรถยนต์ต่างๆ และ KCE ต่างก็มองตรงกันว่าการส่งออกรถยนต์น่าจะฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้งในช่วงปลายเดือน พ.ย. ดังนั้น จึงมองว่าผลการดำเนินงานที่แย่ลงเป็นแค่การสะดุดในช่วงสั้นเท่านั้น ในขณะที่ความล่าช้าของการส่งออกมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิด pent-up orders ในปี 62 ทั้งนี้ KCE บอกว่ายอดคำสั่งซื้อในปี 62 ยังแข็งแกร่งโดยปริมาณน่าจะโตได้มากกว่า 15% จากคำสั่งซื้อใหม่ จึงมองว่าผลกระทบที่เกิดเป็นปัจจัยกระทบกับทั้ง supply chain ในระยะสั้น ไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงกับธุรกิจ ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะ"ซื้อ"หุ้น KCE คาดกำไรปกติไตรมาส 4/61 จะชะลอตัว QoQ แต่คาดกำไรปกติปี 62 ฟื้นตัวแรง 46.9% YoY มาอยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท จากการปรับมาตรฐานอุตฯรถยนต์ในยุโรปเป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ยอดขายรถยนต์โดยรวมยังแข็งแกร่ง ด้านราคาหุ้นปรับตัวลงสะท้อนความเสี่ยงระยะสั้นไปมากแล้ว ทั้งนี้ คาดไตรมาส Q4/61 ยอดขายลดลง QoQ จากผลฤดูกาลและผลกระทบการปรับมาตรฐานใหม่ในยุโรป ขณะที่อัตราการทำกำไรคาดยังได้รับผลกระทบจากอัตราสูญเสียที่สูง ทำให้แนวโน้มกำไรปกติไตรมาส 4/61 คาดอ่อนตัว QoQ ส่งผลให้ราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้จำกัดในระยะสั้น โดยประเมินกรอบเวลาการปรับตัวของผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปอยู่ที่ 3-6 เดือน ยอดขายกลับสู่สถานการณ์ปกติในไตรมาส 1/62 เป็นต้นไป ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกโดยเฉพาะรถยนต์ค่ายยุโรปต้องเร่งปรับตัวทันกับมาตรฐานใหม่ หลังเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับค่ายเอเชียอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาพอุตฯยานยนต์ของโลกในระยะยาวยังสดใส จากมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นทำให้ต้องเพิ่มความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น