บลจ.ไทยพาณิชย์(SCBAM)ตั้งเป้าหมายปี 51 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV) ภายใต้การบริหารโต 30% จาก 3 แสนล้านบาท สิ้นปี 50 ซึ่งใกล้เคียงกับการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวม หวังรักษาแชมป์ส่วนแบ่งตลาดกองรวมทุนรวมเป็นอันดับ 1 โดยมีมาร์เก็ตแชร์ 18-19% ในปี 50 เปิดกลยุทธ์เน้นให้ความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนกับลูกค้าดึงเข้ามาถือกองทุนประเภทหลากหลายประเภท ทั้งกองทุนหุ้นในประเทศ, กองทุน LTF-RMF และ กองทุน FIF ซึ่งปีนี้ประเดิมเปิดกองทุนหุ้นในแถบเอเชีย และกองทุนตราสารหนี้ เพื่อรองรับกม.เงินฝากฯ
นายกำพลชัย อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บลจ.ไทยพาณิชย์เตรียมปูพื้นฐานให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนให้ลูกค้าหรือผู้ถือหน่วย เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการลงทุนมากยิ่งขึ้น เป็นการรองรับการเสนอทางเลือกให้ผู้ฝากเงินหลังจากพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งแรกของปี
ปัจจุบัน ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การบริหารของบลจ.ไทยพาณิชย์ ประมาณ 70-80% ของทั้งหมดประมาณ 2 แสนราย ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น บริษัทจึงต้องการเสนอให้ผู้ถือหน่วยกระจายการลงทุนไปยังกองทุนประเภทอื่น ได้แก่ กองทุนหุ้น กองทุนหุ้นระยะยาว(LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมถึง กองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ(FIF)
นายกำพลชัย เชื่อว่า ลูกค้าที่เคยลงทุนผ่านกองทุนรวม จะกล้าที่จะขยับการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้ง การที่
พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากฯมีผลบังคับจะทำให้ลูกค้าเงินฝากจำนวนประมาณ 60 ล้านราย จำนวน 6.88 ล้านล้านบาท จะหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าเงินฝาก โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบก่อนที่กลุ่มที่มีเงินฝาก 100 ล้านขึ้นไป ถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจกองทุนรวม
"เราต้องการสร้างให้ลูกค้าทุกรายมีครบทุก Asset Class ให้ลูกค้าเลือกการลงทุนให้เหมาะสมกับเขามากที่สุด นี่คือโจทย์ที่เราจะทำในปีนี้"นายกำพลชัย กล่าว
ปัจจุบัน กองทุน LTF ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ครองอันดับ 1 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 25-27% มีลูกค้าประมาณ 1.5 หมื่นราย NAVที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ กองทน RMF อยู่ในอันดับ 2 มีจำนวนผู้ถือหน่วย 1.3 หมื่นราย NAV ที่ 7 พันกว่าล้านบาท ซึ่งยังถือว่าต่ำมาก
ส่วนกองทุน FIF ปีที่แล้วมีเพียง 2 กองทุน แบ่งเป็น ลงทุนในตลาดหุ้นระดับโลกคือ ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ,ยุโรปและ ญี่ปุ่น ส่วนอีกกองทุน ลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป
นายกำพลชัย กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะออกกองทุน FIF ที่เข้าลงทุน Asian Emerging Market Fund เน้นลงทุนหุ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย เริ่มเปิดขาย 24 ม.ค.-5ก.พ.51 มูลค่าโครงการ 1 พันล้านบาท คาดว่าจะขายหน่วยลงทุนครั้ง(IPO)ได้อย่างต่ำ 500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังจะออกขายกองทุน FIF ที่ลงทุนตราสารหนี้ "กองทุนไทยพาณิชย์ FIX3M5"มูลค่าโครงการ 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะให้ผลตอบแทนประมาณ 2.9% ขึ้นไป อายุ 3 เดือน เปิดขายช่วง 7-14 ม.ค.นี้ และ กองทุน FIF ที่ลงทุนใน Commodity เช่น น้ำมัน สินแร่ ทองคำ เป็นต้น และ ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง(Structured Note)ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ
"การที่เราจะโตให้ได้เป็นอันดับ 1 ต่อไปก็ต้องโตใกล้ๆกับอุตสาหกรรม คงจะโตน้อยกว่านี้ไม่ได้ เชื่อว่าปีนี้ก็ยังมีการแข่งขันรุนแรง" นายกำพลชัยกล่าว
ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ จะนำเสนอข้อมูลดังกล่าวในงาน ATIC @Bangkok 2008 (Asia Traders & Investors Convention) หรือ มหกรรมสัมมนาทางการเงินการลงทุนระดับภูมิภาคเอเชีย 2551 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 12-13 มกราคม 2551 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะเน้นการให้ความรู้กับกลุ่มนักลงทุน โดยเฉพาะเรื่องหุ้นในงานนี้ด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--