นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง รักษาการประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.มิลล์คอน สตีล (MILL) วางเป้ารายได้ปี 62 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากแนวโน้มความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% จากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) จากปีนี้ที่คาดว่าในประเทศจะมีความต้องการใช้เหล็กราว 3 ล้านตัน
นอกจากนั้น บริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด (KMS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง MILL กับโกเบ สตีล จากญี่ปุ่นฝ่ายละ 50% คาดว่าจะเริ่มทำกำไรหลังดำเนินงาน 2 ปีแรกประสบผลขาดทุน (เริ่มดำเนินการ ก.พ.60) โดยคาดว่าในไตรมาส 4/61 ผลการดำเนินงานเริ่มถึงจุดคุ้มทุน หลัง KMS ประสบความสำเร็จในการผลิตเหล็กเกรดพิเศษเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งได้รับการยอมรับคุณภาพจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ จึงมีลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับค่ายรถยนต์ทั้งโตโยต้า อีซูซุ ทยอยส่งคำสั่งซื้อเข้ามา
นายประวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานของ KMS ผลิตและขายเหล็กเกรดพิเศษราว 2 หมื่นตัน/เดือน จากกำลังผลิตเหล็กทุกประเภททั้งหมด 4 หมื่นตัน/เดือน และในปีหน้าน่าจะผลิตได้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเหล็กเกรดพิเศษมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) มากกว่า 10% สูงกว่าเหล็กเส้นที่มีอัตรา Net Margin ราว 2-3% แต่อาศัยปริมาณขายจำนวนมาก จึงเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อกำไรของบริษัทในปีหน้า
ส่วนผลประกอบการในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวมที่ 2.5 หมื่นล้านบาท จากปี 60 มีรายได้รวม 2 หมื่นล้านบาท โดยปริมาณขายปีนี้อยู่ที่ราว 1.4 ล้านตัน ซึ่งในปีนี้บริษัทเพิ่มช่องทางขายไปต่างจังหวัดมากขึ้นทำให้มีสัดส่วนขาย 20% และมีราคาขายต่อหน่วยได้ดีขึ้น ขณะที่กำไรในปีนี้คงเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทรับรู้รายการพิเศษจากการขายที่ดินกว่า 200 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านบาท
อนึ่ง MILL รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/61 มีกำไรสุทธิ 626.34 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 59.04 ล้านบาท
ปัจจุบัน MILL มีการผลิตเหล็กเส้นที่เป็นสินค้าหลักประมาณ 6 แสนตัน/ปี หรือ 5 หมื่นตัน/เดือน หรือคิดเป็นการใช้กำลังการผลิต(Utilization) 70-80% ของกำลังการผลิตรวม 8 แสนตัน/ปี โดยบริษัทจะสต๊อกสินค้าไว้ประมาณครึ่งเดือน ซึ่งราคาขายปัจจุบันไม่เกิน 19 บาท/กก.กำไรต่อหน่วยไม่มาก แต่บริษัทได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดการใช้พลังงาน
ขณะเดียวกันบริษัทจะขายผ่านตัวแทน ที่จะมีคำสั่งซื้อเดือนต่อเดือน ก็ทำให้บริษัทไม่ต้องแบกรับภาระราคาล่วงหน้า ไม่มีความเสี่ยงมาก นอกจากนี้บริษัทมีการส่งออกประมาณ 10 กว่า% ของยอดขาย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เป็นต้น
"ผู้ผลิตเหล็กเส้นในประเทศมีจำนวนมาก กำลังการผลิตรวมกัน 10 กว่าล้านตัน แต่มีการใช้ในประเทศ 3 ล้านตัน ที่ผ่านมาเราขายผ่านตัวแทน ซึ่งได้วอลุ่มที่แน่นอน มียอดขายเดือนต่อเดือน เราไม่ขาย Fixed ราคา ยาวๆ 12-24 เดือน เสี่ยงเรื่องราคา...ยอดขายเหล็กเส้นดีขึ้น หลังจากที่เราเพิ่มช่องทางขายไปต่างจังหวัด"นายประวิทย์ กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีความสนใจที่จะหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจดาวน์สตรีมของอุตสาหกรรมเหล็กในอนาคต เช่น การผลิตชิ้นส่วนจากเหล็ก โดยเปิดกว้างความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศที่มีศักยภาพ