นายพัฒนพงศ์ ตัณฑ์สมบุญ ผู้ช่วยกรรมการผุ้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 62 ธนาคารกสิรไทย สปป.ลาว ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 3 พันล้านบาท เงินฝากเติบโตเป็น 2 พันล้านบาท และธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศเป็น 1.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเชื่อว่าจะเห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาวที่ดีขึ้น
ส่วนในปีนี้มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 2.4 พันล้านบาท ระดมเงินฝาก 1.6 พันล้านบาท และมีธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท/ปี โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาการให้สินเชื่อมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 73% เงินฝากเติบโตเฉลี่ยปีละ 29% และธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่ผ่านเติบโตเฉลี่ยปีละ 17% โดยไม่มีปัญหาหนี้เสีย เพราะการควบคุมและจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ยังไม่มีลูกค้าผิดนัดชำระหนี้จนเป็นหนี้เสียแม้แต่รายเดียว
พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายอัตรผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี และเน้นการเติบโตของกำไรให้มากขึ้น โดยที่ธนาคารกสิรไทย สปป.ลาว คาดว่าจะมีกำไรในปี 61 มากกว่า 10 ล้านบาท
นายพัฒนพงศ์ กล่าวว่า สปป.ลาว ถือเป็นเป้าหมายสำคัญอีกประเทศหนึ่งที่จะเชื่อมการให้บริการตามยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายการให้บริการภูมิภาคนี้ของธนาคารกสิกรไทย ทำให้ธนาคารกสิกรไทยในสปป.ลาว ได้จดทะเบียนมีสถานะเป็นธนาคารท้องถิ่นของลาว ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 4 ปี โดยเปิดสาขาแรกคือ สาขาโพนสีนวนในปี 57 ด้วยพนักงาน 13 คน และสำนักงานใหญ่ที่ถนนล้านช้าง ในปี 60 ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 60 คน มีผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่อง
จากการที่รัฐบาลของสปป.ลาว ได้เปิดกว้างให้ภาคเอกชนทั้งของลาวและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการลงทุนสำคัญๆหลายโครงการ ได้ส่งผลดีให้ภาคเศรษฐกิจของลาวมีการขยายตัวและกระจายตัวมากขึ้น โดยโครงสร้างการปล่อยกู้ของธนาคารกสิกรไทย สปป.ลาว แบ่งเป็น การปล่อยกู้ให้กับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ประกอบไปด้วย ภาครัฐของสปป.ลาว 33% ภาคเกษตร 19% ภาคก่อสร้าง 15% ภาคการพาณิชย์ 10% ภาคการขนส่ง 10% ภาคสินเชื่อเช่าซื้อ 8% ภาคอาหารและเครื่องดื่ม 6%
ทั้งนี้ เป็นการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มลูกค้าท้องถิ่น สปป.ลาว (Local) 38% กลุ่มรัฐบาล สปป.ลาว (Government) 33% กลุ่มลูกค้าคนไทยที่มาลงทุนใน สปป.ลาว (TDI) 29%
การให้บริการของธนาคารกสิกรไทย สปป.ลาวในปีนี้และปีต่อๆไปจะเน้นการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในลาว ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจพลังงาน ไฟฟ้า เหมืองแร่ และท่องเที่ยว และเดินหน้าพัฒนาการบริการด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ซึ่งในช่วงปลายปี 61 จะเปิดให้บริการดิจิทัลแบงก์กิ้งในสปป.ลาว ด้วยบริการ QR Payment ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุญาตจากธนาคารกลางของสปป.ลาว
นอกจากนี้ธนาคารยังได้ขยายการให้บริการสำหรับกลุ่มลูกค้าวิสดอม (Wisdom) ที่มีเงินฝากประจำประเภท 6 เดือนขึ้นไปกับธนาคารตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปในสปป.ลาว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่ให้บริการ โดยมีลูกค้ากลุ่มบุคลลสำคัญในสปป.ลาว ให้ความไว้วางใจใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจในสปป.ลาว เนื่องจากเป็นประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจทั้งภาคการเงินและภาคอื่นๆอีกมาก และเป็นประเทศที่ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับประเทศไทยมากที่สุด พร้อมกับยังมีนโยบายที่จะชักชวนลูกค้าในประเทศไทยให้เข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว โดยการจัดบริการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อการค้าการลงทุนระหว่างกัน และจะช่วยให้ธนาคารกสิกรไทย สปป.ลาว ได้ขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากกลุ่มลูกค้าคนไทยที่มาลงทุนในสปป.ลาว เป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของธนาคารอีกกลุ่มหนึ่ง
นายพัฒนพงศ์ กล่าวอีกว่า จากการที่ธนาคารกสิกรไทยมีแผนจะขยายและต่อยอดธุรกิจในภูมิภาค AEC+3 โดยมีแผนยุทธศาสตร์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเปิดสาขาหรือสำนักงานที่เป็น Physical Footprint ในภูมิภาค AEC+3 โดยมีรูปแบบธนาคารท้องถิ่นจดทะเบียน (LII – Locally Incorporated Institution) สาขาธนาคารต่างประเทศ (FBB- Foreign Bank Branch) สำนักงานผู้แทนต่างประเทศ (Representative Office)
ขณะนี้ธนาคารกสิกรไทยมีสาขา ลาว กัมพูชา จีน และมีการลงทุนในธนาคารแมสเปี้ยน (Maspian) ในอินโดนีเซีย รวมถึงมีสำนักงานผู้แทนในเมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น การขยายบริการด้านดิจิตอล (Digital Platform) มุ่งให้บริการทางการเงินโดยผ่าน Digital Channel และการเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินท้องถิ่น (Partnership) ดำเนินธุรกิจร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาค