AEC ให้กรอบลงทุน SET ช่วงนี้ 1,587-1,640 จุด ปัจจัยลบจากทั้งในและต่างประเทศยังกดตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 27, 2018 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เออีซี (AECS) เปิดเผยว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้คงแกว่งตัวในกรอบ 1,587-1,640 จุด ยังคงมีปัจจัยกดดันจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังขายต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายปัจจัยจากต่างประเทศต้องติดตามในเรื่องของการประชุมระหว่างสหรัฐ-จีนระหว่าง G20, ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง บวกกับความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ซึ่งมีผลต่อต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงที่ตลาดยังมีปัจจัยลบจากทั้งในและต่างประเทศ แนะนำหุ้น 4 กลุ่มที่น่าลงทุน ได้แก่ กลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่มโรงแรม ซึ่งโครงสร้างธุรกิจมีกระแสเงินสดแข็งแรง ได้แก่ SSP (S7.5,R7.9), BPP (S23.4,R24), GUNKUL(S3.00,R3.18), CENTEL (S39.5,R42) นอกจากนี้ ยังแนะลงทุน หุ้นกลุ่มหนี้สินต่อทุนต่ำ คาดได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยน้อย คือ TPIPP (S5.95,R6.30), HANA (S33,R35) อีกทั้งบริษัทที่ Fixed Coupon Rate และมีสัดส่วนเงินกู้ระยะยาวสูง ได้แก่ KTC(S33,R35), MTC(S46.5,R51), SAWAD(S43.25,R48) และแนะลงทุนหุ้นกลุ่มที่ราคาหุ้นปรับลงแรง แต่มีโอกาสฟื้นตัวเร็วจากกำไรปี 62 ที่แข็งแกร่ง BJC(S50,R53), BGRIM (S25,R26.5), MEGA(S30,R32.5)

สำหรับการประชุมระหว่างสหรัฐ-จีนระหว่างงาน G20 ที่จะมีขึ้นวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. ซึ่งแม้ตลาดคาดจะเห็นความคืบหน้าของกรอบการแก้ปัญหาทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งสัญญาในการหยุดหรือชะลอแผนขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ของสหรัฐฯ แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากลับไม่มีความคืบหน้ามากขึ้น ทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มกังวลต่อผลลัพธ์ของการประชุมดังกล่าว

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับลงแรงอีกครั้ง หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดิอาราเบียเปิดเผยถึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบเดือน พ.ย. มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐและรัสเซียยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สร้างความกังวลต่อภาวะอุปทานที่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าความต้องการใช้พลังงานโลก ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันจะกลับมาพักตัวในกรอบเพื่อรอความชัดเจนของแผนลดกำลังการผลิตในการประชุมกลุ่ม OPEC วันที่ 6 ธ.ค. นี้ ซึ่งล่าสุดตลาดคาดทางกลุ่มจะมีโอกาสที่จะปรับลดกำลังการผลิตมากถึง 1.4 ล้านบาร์เรล คิดเป็นการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกราว 70% จากข้อตกลงเดิม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงต้องจับตามองอีกเรื่อง คือ ความไม่แน่นอนของการถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (BREXIT) ที่แม้ล่าสุดร่างกฏหมาย BREXIT จะได้รับการรับรองจากผู้นำของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) แล้ว ในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่คาดว่านางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษจะต้องเผชิญความท้าทายในการผลักดันร่างกฏหมายดังกล่าวให้ผ่านสภาฯ ภายในช่วงปลายปี เพื่อให้อังกฤษสามารถออกจากกลุ่ม EU แบบ Soft BREXIT


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ