ก.ล.ต. แนะ บล.-บลจ.คิดค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรม เน้นพัฒนาคุณภาพบริการให้ดีขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 28, 2018 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) มีการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขายที่ยังไม่ค่อยเป็นธรรมต่อลูกค้า และการบริการต่อลูกค้ายังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะการซื้อ-ขายกองทุนรวมที่มีบางกองทุนรวมที่คิดอัตราค่าธรรมเนียมในระดับที่สูงแต่ผลตอบแทนที่ได้กลับทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นน อีกทั้งบางรายยังไม่สามารถให้บริการด้านข้อมูลและการให้คำแนะนำต่างๆที่มีคุณภาพและทั่วถึง ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมในการให้บริการเมื่อเทียบกับอัตราค่าธรรมเนียมที่ลูกค้าจ่ายไปที่มีทั้งค่าธรรมเนียมที่บลจ.จัดเก็บและค่าธรรมเนียมแฝงอื่น

จากการที่ ก.ล.ต.ได้เล็งเห็นถึงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการทั้งบล.และบลจ.ควรคิดค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขายที่เป็นธรรมกับลูกค้า และพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าหรือนักลงทุนเป็นหลัก (Investor First) ว่าเมื่อลูกค้าจ่ายค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขายแล้วลูกค้าจะได้อะไรมากกว่าคิดเพียงแค่ว่าบริษัทได้อะไร ซึ่งสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรทำ คือ การสร้างความคิดและระเบียบวินัยที่เกิดขึ้นในองค์กร (Self Discipline) ให้ทุกคนในองค์กรตระหนักรู้ด้วยตนเองว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า พร้อมกับให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับประกอบด้วย

สิ่งที่ก.ล.ต.อยากเห็นในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมของการซื้อ-ขายของผู้ประกอบการทั้งบล.และบลจ.ที่จัดเก็บจากลูกค้านั้น ต้องเป็นการสร้างความยั่งยีนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม และมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและนักลงทุน รวมไปถึงการส่งมอบบริการที่ดีและมีคุณค่าต่อลูกค้าทุกราย ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าการที่เข้ามาใช้บริการของผู้ประกอบการรายนั้นๆมีความหมายและได้รับประโยชน์ที่ดีที่สุด โดยปัจจุบันการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการที่บลจ.จัดเก็บเมื่อลูกค้าซื้อกองทุน (Front end fee) ที่เป็นกองทุน Active อยู่ที่เกือบ 2% และค่าธรรมเนียมกองทุนแบบอิงดัชนี (Index Fund) อยู่ที่ 0.5%

"การเก็บค่า Fee เป็นสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าตั้งคถามว่าจ่ายไปแล้วได้อะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ก.ล.ต.ก็อยากแนะนำผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งบล.และบลจ.ควรที่จะให้ความสำคัญว่าลูกค้าได้อะไรมากกว่าบริษัทได้อะไร ทำให้การคิดค่า Fee เป็นธรรมมากขึ้น และพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าบางกองทุนที่เป็นกองทุน Active แต่ผลตอบแทนกลับทำได้ไม่ดีนัก หรือทำได้เท่ากับกองทุนที่อิงดัชนี และการบริการของกองทุนที่ค่าธรรมเนียมแพงบางกองทุนที่ควรบริการแบบรถลีมูซีน แต่กลับมีการบริการแบบรถตุ๊กตุ๊ก แบบนี้ไปซื้อกองทุนที่อิงดัชนีที่ค่าธรรมเนียมถูกกว่าก็พอ"นายรพี กล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขายหลักทรัพย์และกองทุนรวมถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดเก็บกับลูกค้า แต่สิ่งที่ ตลท.ต้องการพัฒนาขึ้น คือ แพลตฟอร์มการซื้อ-ขาย โดยเฉพาะการซื้อขายกองทุนรวมที่รวบรวม บลจ.และตัวแทนขายอยู่ในระบบเดียวกัน หรือ Fund Connect และมีการนำข้อมูลต่างๆใส่เข้ายปในระบบเพื่อทำให้นักลงทุนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น และทำให้นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น พร้อมกับทำให้ผู้ประกอบการในตลาดมีการแข่งขันกัน ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายมีการพัฒนาคุณภาพการบริการและคุณภาพการบริหารจัดการกองทุนได้ดีมากขึ้น และทำให้ลูกค้าและนักลงทุนมีความพึงพอใจกับค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียไป โดยได้รับโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล การบริการ ช่องทางการลงทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ