บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) ระบุว่าบริษัทมีแนวโน้มการใช้แนวทางเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นติดลบต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้วในงบการเงินไตรมาส 3/61 ซึ่งคงต้องให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้ตัดสินใจ ขณะที่การแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ บริษัทตั้งเป้าที่จะหยุดการขาดทุนให้ได้ภายในปี 62 โดยเดินหน้าสร้างรายได้ ซึ่งมีแผนจะเพิ่มรายได้จากเส้นทางบินต่างประเทศให้มีสัดส่วนเป็น 30% จากเดิม 20% โดยเฉพาะจุดบินไปยังอินเดีย ญี่ปุ่น และ เวียดนาม พร้อมทั้งตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายลงอย่างน้อย 10% ของต้นทุนรวม เข่น การปลดระวางเครื่องบิน ATR 2 ลำ ให้มีแบบเครื่องบินเหลือ 2 แบบ จากเดิม 3 แบบ เพื่อลดต้นทุน
นายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK กล่าวว่า จากสถานะทางการเงินของบริษัท ทำให้ NOK มีแนวโน้มจะเพิ่มทุน เพราะพิจารณาจากส่วนของผู้ถือหุ้นในไตรมาส 3/61 ติดลบ 1,921.36 ล้านบาท ลดลงต่ำกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว โดยลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 2/61 ที่มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 406.10 ล้านบาท ทำให้บริษัทถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย C ต่อเนื่อง และหากถูกขึ้นเครื่องหมาย C ติดต่อกัน 3 ไตรมาสจะต้องแก้ไขส่วนของผู้ถือหุ้นให้ได้
ทั้งนี้ บริษัทได้นำเสนอแนวทางการเพิ่มทุนไปให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการ
"เป็นไปตามที่ทุกคนเห็นงบการเงิน บอร์ดก็ดูอยู่ ดูจากงบชี้นำไปแนวทางนั้นแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด"นายประเวช กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายประเวช กล่าวยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาขายหุ้น NOK ตามที่มีกระแสข่าว แต่บริษัทอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ซึ่งในระยะแรกจะหยุดการขาดทุนให้ได้ภายในปี 62 และหากหยุดขาดทุนได้ 3 ไตรมาสติดต่อกัน บริษัทจะเข้าสู่ระยะขยายกิจการที่คาดว่าจะเป็นปี 63
สำหรับแนวทางการหยุดขาดทุนนั้น บริษัทจะเพิ่มรายได้ด้วยการจับมือพันธมิตรธุรกิจเพื่อเพิ่มผู้โดยสาร ได้แก่ สายการบินนกสกู๊ตซึ่ง NOK ถือหุ้นอยู่ 49% ร่วมมือกันทำการบินร่วม (Code Share) โดยนกสกู๊ตทำการบินระยะไกลและเส้นทางต่างประเทศ อาทิ ในญี่ปุ่น ได้แก่ นาริตะ ฮาเนดะ, ไทเป, นิวเดลี, มุมไบ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งต่อผู้โดยสารให้กับ NOK ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งระบบการจองตั๋วที่เชื่อมต่อกันรวมทั้งการขนถ่ายกระเป๋าคาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน ม.ค.62
นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับ บมจ.การบินไทย (THAI) ซึ่งมีตลาดยุโรปที่แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถส่งต่อผู้โดยสารบินในประเทศให้ NOK ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นจุดบินที่การบินไทยและไทยสมายล์ไม่ได้ทำการบิน โดยเฉพาะไปยังเส้นทางเมืองรองอย่างบุรีรัมย์ หรืออุดรธานี โดยระหว่างนี้รอการลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU)
นายประเวช กล่าวว่า NOK มีฐานการบินที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งตารางการบินแน่นแล้ว การขยายจุดบินทำได้ยาก ดังนั้น NOK จึงได้เริ่มขยายเส้นทางที่จุดบินอื่น ได้แก่ ภูเก็ต-เฉิงตู ที่เพิ่งเริ่มเปิดบินเมื่อเดือนก่อน
นอกจากนี้ NOK จะเพิ่มจุดบินใหม่ในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มรายได้จากเส้นทางต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายในปี 62 จะมีสัดส่วนรายได้จากเส้นทางต่างประเทศเป็น 30% จาก 20% ในปัจจุบัน ขณะที่รายได้จากเส้นทางในประเทศจะลดลงเหลือ 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ 80%
ทั้งนี้ จุดบินใหม่ในปีหน้า ได้แก่ เมืองวิสาขาปัตนัม เมืองกูวาฮาตี ในประเทศอินเดีย คาดจะทำการบินในเดือน ก.พ.62 ส่วนในญี่ปุ่น ได้แก่ ฮิโรชิมา เซ็นได และจะมีเพิ่มจุดบินในระยะทำการบิน 6 ชั่วโมงในอินเดียด้วย ด้านเวียดนามได้ทำการบินแบบ Block Sale ซึ่งคล้ายกับการบินเช่าเหมาลำ โดยขายตั๋วโดยสารผ่าน Travel Agent ซึ่งจะบินไปที่ดาลัด ดานัง และฮานอย ในช่วงเดือน ธ.ค.61-ม.ค.62
ขณะที่ตลาดในจีนที่ปรับตัวลดลงไปมาก จากเดิมบินไป 10 เมือง เหลือ 4 เมือง ใช้วิธีขายแบบ Block Sale มาตั้งแต่แรก ทำให้ได้จำนวนผู้โดยสารแน่นอนแต่อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ค่อนข้างน้อย เมื่อนักท่องเที่ยวจีนลดลงหลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ NOK ได้รับผลกระทบ เพราะมีผู้โดยสารจากจีนสัดส่วน 10% ของผู้โดยสารทั้งหมดประมาณ 9 ล้านคน
นายประเวช กล่าวว่า การเพิ่มจุดบินในต่างประเทศ เพราะต้องการขยายฐานลูกค้าต่างประเทศมากขึ้นและยังเพิ่มการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย 12 ชั่วโมง/ลำ/วัน โดยในปลายปีนี้จะเพิ่มเป็น 10.3 ชั่วโมง/ลำ/วัน จากเดือน ก.ย.61 อยู่ที่ 7.9 ชั่วโมง/ลำ/วัน
ปัจจุบัน NOK มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศ 20% ขณะที่สายการบินไทยแอร์เอเชียครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 30% นอกจากนี้ยังได้มองขยายฐานไปที่สนามบินอู่ตะเภาในระยะต่อไป
ด้านการลดค่าใช้จ่าย นายประเวช กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายปรับลดค่าใช้จ่ายลงอย่างน้อย 10% ของต้นทุนรวมในปี 62 ทั้งนี้ ต้นทุนด้านเครื่องบินเป็นต้นทุนที่มีความสำคัญ ดังนั้น บริษัทมีแผนจะปลดระวางเครื่องบินใบพัด ATR72 ที่มีอยู่จำนวน 2 ลำ ออกไปอย่างเร็วในไตรมาส 1/62 ขึ้นอยู่กับการเช่าเครื่องต่อไปให้รายอื่นได้หรือไม่ และคงการเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 16 ลำ และเครื่องบินใบพัด Q400 จำนวน 8 ลำ เพื่อทำให้ต้นทุนการเช่าและซ่อมบำรุงเครื่องบินลดเหลือ 2 รุ่น จาก 3 รุ่น ส่วนเรื่องต้นทุนน้ำมัน NOK ได้ร่วมมือกับ THAI ในการจัดซื้อน้ำมันและบริหารความเสี่ยงช่วยลดค่าใช้จ่ายได้บ้าง
"นกแอร์ได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ กระบวนการหยุดขาดทุนให้ได้และสร้างความมั่นคงในเฟสต่อไป ตอนนี้เราอยู่ในเฟสที่ 1 ในไตรมาส 3/61 ทุกสายการบินประสบปัญหาการขาดทุนเช่นเดียวกัน ราคาน้ำมันขึ้นจาก 63.56 เหรียญ/บาร์เรล เพิ่มมาเป็น 88.90 เหรียญ/บาร์เรล มีปัญหานักท่องเที่ยวจีน และยังมี Price War กดดันธุรกิจ"นายประเวช กล่าว
นายประเวช เปิดเผยอีกว่า ในไตรมาส 3/61 NOK มีรายได้จากตั๋วโดยสารที่ 2.4 พันล้านบาท ลดลง 13% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และขาดทุน 974 ล้านบาท โดยขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 40 ล้านบาท ส่วนในงวด 9 เดือนมีรายได้จากตั๋วโดยสาร 9 พันล้านบาท ลดลง 1.6% และขาดทุน 1.75 พันบ้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 9.4%
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในไตรมาส 4/61 มีแนวโน้มดีขึ้น หลังรัฐบาลมีมาตรการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว 21ประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน และแนวทางฟื้นฟูกิจการเริ่มจะทยอยเห็นผล ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลงสู่ระดับปกติที่กว่า 60 เหรียญ/บาร์เรล โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยอยู่ที่ 86%
นายประเวช กล่าวว่า NOK ให้ความสำคัญกับการบริการที่ประทับใจกับผู้โดยสารมากขึ้นและจะแตกต่างจากสายการบินต้นทุนต่ำ และพยายามดึงความเชื่อมั่นของผู้โดยสารกลับมา โดยล่าสุด OAG.com เว็บไซด์จัดอันดับสายการบินที่น่าเชือถือของโลก และมีเครือข่ายข้อมูลสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำเสนอสถิติความตรงต่อเวลาของสายการบินภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือน ต.ค. 61ที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์ ติดอันดับ 4 มาตรฐานในเรื่องตรงเวลาที่ 85.3% จากเดิมไม่ติด Top 5