โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มองปี 62 แนวโน้มราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ในประเทศมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดในปีนี้ และปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุน ขณะเดียวกันแนวโน้มราคาเนื้อหมูในเวียดนามยังทรงตัวสูง ขณะที่ CPF เริ่มมีโอกาสส่งออกเนื้อไก่ไปจีนคาดเติบโตได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/61 อาจจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/61 ตามช่วงฤดูกาล แต่ผลงานทั้งปี 62 จะเติบโตได้อย่างดีจากอุตสาหกรรมอาหารที่จะขยายตัวตามเศรษฐกิจ และธุรกิจหมูในประเทศที่ฟื้นตัว รวมถึงราคาเนื้อหมูในเวียดนามที่ยืนอยู่ในระดับสูง
ราคาหุ้น CPF พักเที่ยงอยู่ที่ 25.50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.03%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 30.00 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 29.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 33.60 ทรีนีตี้ ซื้อ 29.00 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 30.00
นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการของ CPF ในไตรมาส 4/61 คาดว่าจะอ่อนตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/61 แต่จะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากไตรมาส 3/61 เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ซึ่งธุรกิจของ CPF มีความผันผวนในตัวพอสมควร เนื่องจากเป็น sub commodity ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวได้ค่อนข้างดี โดยราคาเนื้อหมูปรับตัวดีขึ้นและราคาเนื้อไก่ยังทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 มองว่าผลประกอบการจะสามารถฟื้นตัวได้ จากอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีกว่าปีนี้ เนื่องจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของราคาเนื้อสัตว์ในประเทศตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 61 หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่คาดว่าราคาวัตถุดิบจะแกว่งตัวในกรอบที่ไม่กว้างนัก โดยประเมินว่าราคาเนื้อสัตว์ในประเทศปี 62 ราคาเนื้อหมูในประเทศจะอยู่ที่ระดับราว 60 บาท/กิโลกรัม ส่วนเนื้อไก่อยู่ที่ระดับราว 34 บาท/กิโลกรัม นับว่าเป็นราคาที่สูงกว่าต้นทุนส่งผลให้ CPF มีความสามารถในการทำกำไรได้
สำหรับราคาเนื้อหมูในเวียดนาม ณ ไตรมาส 3/61 อยู่ราว 5.16 หมื่นเวียดนามดอง/กิโลกรัม อยู่ในระดับสูงกว่าราคาต้นทุน 3.5 หมื่นเวียดนามดอง/กิโลกรัม ทำให้การส่งออกเนื้อหมูไปขายในเวียดนามสามารถทำกำไรได้ค่อนข้างดี ส่วนการส่งออกเนื้อไก่ไปจีน มองว่าปัจจุบันอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้โอกาสในการส่งออกสามารถเติบโตได้อีกมาก
นอกจากนี้ประเมินอุตสาหกรรมอาหารในปี 62 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอดขาย CPF จะมีการเติบโตตามการบริโภคในประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะอยู่ราว 4-5% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะมีการเติบโตใกล้เคียงกันที่ 5-10%
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเมินผลประกอบการปี 62 ของ CPF จะเติบโตเด่นทุกไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้ จากปัจจัยหลักคือการฟื้นตัวของรายได้กลุ่มฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากราคาหมูในเวียดนามเฉลี่ยทั้งปีน่าจะสูงกว่าปี 61 ที่ปัจจุบันอยู่ราว 73-74 บาท/กิโลกรัม เทียบกับต้นปีราว 45-46 บาท/กิโลกรัม สอดคล้องกับมุมมองของผู้บริหารที่ประเมินว่าหมูในเวียดนามเพิ่งเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของวงจรขาขึ้น และราคาจะทรงตัวในระดับสูงได้อีก 3-4 ปี
ขณะที่โรค ASF ที่กำลังระบาดในจีนทำให้ราคาหมูเพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่เกิดโรคห้ามเคลื่อนย้ายข้ามมณฑล เกิดการขาดตลาดในบางมณฑล หนุนราคาตลาดตามชายแดนเวียดนาม-จีนสูงขึ้น
ส่วนราคาหมูในไทยกลับสู่ระดับทำกำไรได้ และวงจรของการล้นตลาดจะครบ 1 ปี แต่ราคาจะกลับตัวได้ไม่เร็วเหมือนเวียดนามเพราะเวียดนามผู้เลี้ยงเป็นรายเล็ก ขณะที่ไทยเป็นรายใหญ่จึงมีสายป่านยาวและทนการขาดทุนได้นานกว่า ทำให้อุปทานส่วนเกินลดลงช้ากว่า
ขณะที่ราคาไก่ในไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในปี 62 แต่จะไม่ขาดทุนเช่นปีนี้ และผู้บริหารมองว่าจีนเป็นโอกาส เพราะเริ่มหันมานำเข้าไก่จากเอเชียบ้างแล้วจากที่ไม่เคยนำเข้าเลย เนื่องจากจีนมีประเด็นสงครามทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งปกติจีนนำเข้าไก่จากสหรัฐฯ ถึง 7 แสนตัน/ปี
ทั้งนี้ ปรับประมาณการรายได้ของ CPF ในปี 61-62 ขึ้น 0.6% และ 1.2% ตามลำดับ ,ปรับอัตรากำไรขั้นต้นปี 61 ขึ้น 20bps เป็น 12.6% แต่คงอัตรากำไรขั้นต้นปี 62 ไว้ที่ 12.7% นอกจากนี้ปรับลดค่าใช้จ่าย SG&A/Sales ปี 61-62 ลงปีละ 10bps เป็น 10.0% และ 9.5% ตามลำดับ จากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เข้มงวด ส่งผลให้กำไรปกติปี 61 เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 16.3% เป็น 6.62 พันล้านบาท และปี 62 เพิ่มขึ้น 5.9% เป็น 1.06 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 59.8% จากปี 61
บทวิเคราะห์บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า CPF รายงานกำไรปกติไตรมาส 3/61 ที่ 3.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากงวดปีก่อน ดีกว่าคาด 9% เนื่องจากธุรกิจหมูในประเทศไทยและเวียดนามฟื้นตัว มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ประมาณ 1.05 พันล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 4.91 พันล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
และคาดว่าในไตรมาสที่ 4/61 จะเห็นแนวโน้มที่ดีตัวของธุรกิจหมูในไทย คาดราคาจะอยู่ในช่วง 62-64 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ตลาดหมูในเวียดนามจะยังคงอยู่ในช่วงระดับราคาที่สูง โดยคาดในช่วง 4.5-5 หมื่นดองเวียดนาม/กิโลกรัม ส่วนยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไปจีนเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมผลการดำเนินงานของ CPF น่าจะอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามช่วงของฤดูกาล
"เรามองว่า CPF นั้นได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และราคาหุ้นกลับมามีแนวโน้มดีกว่าหุ้นอุตสาหกรรมอาหารโดยทั่วไป หนุนโดยธุรกิจหมูที่ฟื้นตัว"เคทีบีฯ ระบุ