นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ระยะสั้นตลาดหุ้นมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น (Rebound) ภายหลังจากผู้นำสหรัฐฯ และจีนได้เจรจากันในการประชุม G20 ทำให้ปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าโลกลดลง และราคาน้ำมันที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นหลังการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในวันที่ 6 ธ.ค. ซึ่งคาดว่าโอเปก จะตัดสินใจลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงอย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเด็นสุดท้ายคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เริ่มพลิกกลับมาอ่อนค่าหลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาให้ความเห็นว่าดอกเบี้ยในสหรัฐฯ เริ่มขยับเข้าใกล้ระดับปกติ (Neutral Rate) ซึ่งชี้ว่าเฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า
สำหรับตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยบวกจากเม็ดเงินกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เริ่มเข้ามาประคองตลาด ประกอบกับการจะมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งจะทำให้กำหนดการเลือกตั้งชัดเจนขึ้น
ส่วนในปี 2562 จะเป็นปีที่ตลาดผันผวนไม่น้อยไปกว่าปีนี้ และการลงทุนยังคงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยแนะนำกลยุทธ์ให้นักลงทุนเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มตั้งรับ (Defensive) ซึ่งมีการเติบโตของกำไรสม่ำเสมอไม่ว่าจะอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจ และเลือกหุ้นในกลุ่ม Global Health Care เป็นตัวเลือกหลักสำหรับ ธีมการลงทุนแบบ Defensive ในปี 2562 เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ
ทั้งนี้ ในปีหน้า TISCO ESU ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น สงครามการค้าที่จะกระทบเต็มปี แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐฯ ของรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มแผ่วลง และยังมีแรงกดดันจากการขึ้นภาษีการบริโภคของญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันภาครัฐและธนาคารกลางต่างมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มองว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างจำกัด เพราะในปี 2561 ตลาดหุ้นได้ปรับฐานรุนแรงถึง 2 ครั้ง และราคาหุ้นเริ่มกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
"ในระยะสั้นโอกาสที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับลดลง (Downside) ค่อนข้างจำกัด เพราะในปีนี้มีการปรับฐานรุนแรงไปถึง 2 ครั้งแล้ว ในช่วงเดือน ก.พ. และ ต.ค. เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ที่ปรับตัวขึ้นแรง และความกังวลต่อผลกระทบของสงครามการค้า โดยหากนับจากจุดสูงสุดเมื่อต้นปี 2561 ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ปรับฐานไปกว่า 10-15% ขณะที่ตลาดหุ้นกำลังพัฒนาปรับฐานรุนแรงกว่า 15-30% นำโดยตลาดหุ้นจีน และเกาหลี ซึ่งการปรับฐานในรอบนี้นับเป็นการลดลงในอัตราที่ใกล้เคียงกับการปรับฐานของตลาดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับราคา (Valuation) ของตลาดหุ้นทั่วโลกซึ่งเคยอยู่ในระดับสูงในช่วงต้นปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปี สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว สำหรับตลาดหุ้นกำลังพัฒนา"นายคมศร กล่าว