พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดทดลองให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยมี พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยรมว.มหาดไทย ,รมว.คมนาคม และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะผู้บริหารจังหวัดสมุทรปราการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในกลุ่มบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เข้าร่วมพิธี ณโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสมุทรปราการ
หลังจากนั้นเวลา 07.30 น. นายกรัฐมนตรี นำคณะผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงาน พร้อมสื่อมวลชน โดยสารรถไฟฟ้าจากศูนย์ซ่อมบำรุงไปยังสถานีเคหะสมุทรปราการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทางโดยรถไฟฟ้า ฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้มีรายน้อยสามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ในช้วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดการเดินรถไฟฟ้า 2 เส้นทางแล้ว คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน และ สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มอบเป็นเป็นของขวัญแก่ประชาชน แต่ก็ยังต้องคิดหาวิธีลดปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งขณะนี้สภาพดีขึ้น แต่ก็ยังติดขัด แม้เราจะมีเส้นทางเดินรถเพิ่มขึ้น แต่การจราจรยังติดขัดเนื่องจากพฤติกรรมการเดินทางของครอบครัวที่พ่อแม่ลูกเดินทางไปส่งลูกไปโรงเรียน ส่งภรรยาไปที่ทำงาน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เป็น โครงการรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดสาย ระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และลานจอดรถ 1 แห่ง โดยรฟม. ได้เริ่มก่อสร้างงานโยธาและงานรางตั้งแต่ปี 2555 กระทั่งแล้วเสร็จเรียบร้อยประมาณต้นปี 2560 จากนั้นกรุงเทพมหานครได้เริ่มเข้าดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเมื่อเดือนต.ค.59 และสามารถเปิดเดินรถได้ 1 สถานี ที่สถานีสำโรง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.60 จากนั้นกรุงเทพมหานครได้ทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลส่วนที่เหลือทั้งหมด รวมทั้งดำเนินการทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ และทดสอบการเดินรถจริง โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.61 ถึงวันที่ 15 เม.ย.62
พร้อมทั้งหารือกับทางบีทีเอส เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเบื้องต้น ซึ่งกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้เพดานค่าโดยสารทั้งโครงการส่วนแรกในสายสุขุมวิท สายสีลม และส่วนต่อขยายสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งต้องได้ข้อสรุปก่อนเปิดเดินรถจริงในเดือนเม.ย.62 หลังการทดลองเสร็จสิ้น
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร BTS กล่าวว่า ทาง BTS จะนัดเจรจาหารือกับทางกทม.เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะอัตราค่าโดยสาร ที่ทางกทม.มีแนวคิดจะเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟ้ฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทางไม่เกิน 65 บาท/เที่ยว จากปัจจุบันเก็บอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง โดยหากคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจะอยู่ที่กว่า 140 บาท ซึ่งตนเองก็เห็นว่าเป็นราคาสูง แต่ก็ควรคิดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ที่มีต้นทุนทั้งค่าแรง ค่าไฟฟ้า ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เห็นว่าราคาค่าโดยสารไม่ควรเกิน 100 บาท/เที่ยว
อีกทั้ง เส้นทางเดินรถสายสุขุมวิทช่วง หมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ เป็นเส้นทางที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้รับสัมปทานจนถึงปี 72 ยังไม่นับรวมสัญญาซ่อมบำรุงรักษาอีก 26 ปีด้วย โดยในส่วนนี้ถือว่าอยุ่ใจกลางเมืองที่มีการเดินทางมาก และเป็นเส้นทางที่บริษัทลงทุนเอง โดยเก็บอัตราค่าโดยสาร 16-44 บาท
"ค่าโดยสารทั้งเส้นทาง 140 กว่าบาท เพราะเริ่มยาวขึ้น ค่าโดยสารก็ลดได้ แต่จะลดได้ขนาดนั้นหรือเปล่า ต้องนั่งลงมาคุยกันจริงๆจังๆ ยังไม่เห็นส่งเรื่องมาให้ผม แต่สุดท้ายผมก็ต้องเป็นคนตัดสินใจ ต้องมาคุยว่าทำไมต้องลด สัมปทานทำมา 10 กว่าปี ต้องต่อสัญญาถึงลด แก้ไขสัญญาถึงลด หรือ subsidy ถึงลด ผมไม่ได้ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปได้เพราะอะไร
ตรงกลาง(สายสุขุมวิทและสายสีลม)มีรายได้มากที่สุด ถ้าลดไปครึ่งหนึ่ง ตรงกลางนี้โดนหนัก ตรงนี้เป็นสัญญาสัมปทาน เราเป็นคนสร้างเอง ตรงนี้มีคนมากที่สุด จะสร้างกี่สีกี่สายก็ต้องมาต่อตรงนี้ ฉะนั้นก็ต้องมาคุย แล้วค่อยว่ากัน ทุกอย่างต้องชัดเจน ตรงนี้ของเก่า ตรงนี้ของใหม่ ถ้าจะทำ PPP ทั้งเส้น outcome คืออะไร มันต้อง Fair ไม่ใช่เอาส่วนต่อขยายมาเล่นเรา รายได้เราก็ไม่ได้มาก ..ไม่ต้องเกิน 100 บาท ทำให้ถูกได้"นายคีรี กล่าว
ทั้งนี้ BTS ต้องรอให้ กทม. ออกทีโออาร์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) จึงจะมาเจรจาหารือกับ กทม.ได้
อนึ่ง กทม.เตรียมเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 11 ธ.ค.61 โดยโครงการนี้มี 2 ช่วง ช่วงแรกคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2572 ที่มีแนวเส้นทางหลัก (Core System) เอกชนผู้ให้บริการรายปัจจุบัน คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จะดำเนินการต่อภายใต้สัญญาสัมปทานจนสิ้นสุดปี พ.ศ.2572 ขณะที่แนวเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 (คือช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และ ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จะให้ BTSC ดำเนินการภายใต้สัญญาจ้างจนถึงปี พ.ศ.2572
ช่วงที่ 2 ปี พ.ศ. 2573-2602 ที่จะให้สัมปทานกับเอกชนรายใหม่ จะสามารถเข้ามาบริหารจัดการ โดยจัดเก็บรายได้ ดำเนินงาน และบำรุงรักษา ทั้ง 2 ช่วงของสายทาง ภายใต้สัญญาสัมปทานใหม่มีระยะเวลา 30 ปี โดย กทม.มีนโยบายที่จะปรับอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน (Base Fare) ให้เป็นระบบอัตราค่าโดยสารตามระยะทางตลอดสาย (Single Fare Table) โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตอลดสาย