บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ระดับ "AAA" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะการเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น โดยอันดับเครดิตในภาพรวมของธนาคารสะท้อนถึงการสนับสนุนทางธุรกิจและเงินทุนที่กลุ่ม MUFG มีให้กับธนาคาร และความช่วยเหลือที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มธนาคารแม่ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารย่อยของธนาคาร MUFG Bank Ltd. (MUFG Bank) ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกว่า Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU) ซึ่งถือหุ้นทั้งหมด และเป็นสมาชิกหลักของกลุ่ม MUFG (ได้รับการจัดอันดับ "A/Positive" จาก S&P Global Ratings)
สถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารสะท้อนถึงธุรกิจและกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายรวมไปถึงความแข็งแกร่งในธุรกิจลูกค้ารายย่อยและตลาดลูกค้าธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนและสถานะเงินทุนของธนาคารซึ่งอยู่ในระดับปานกลางเป็นปัจจัยลดทอนอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคาร
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม MUFG
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่ม MUFG ในกรณีที่ธนาคารมีปัญหาทางการเงิน และยังเชื่อว่าธนาคารจะยังได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและเงินทุนจากกลุ่ม ถึงแม้ว่าธนาคารจะมีสัดส่วนของรายได้และกำไรต่อกลุ่มเพียงเล็กน้อยก็ตาม
ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากลุ่ม MUFG มีพันธะสัญญาที่เหนียวแน่นในระยะยาวที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้ดำเนินตามกลยุทธ์ของกลุ่มในการขยายฐานลูกค้าจากการต่อยอดจากความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติ รวมถึงเครือข่ายของกลุ่ม MUFG เช่น บัญชีเงินเดือนพนักงาน และการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มสายการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติ รวมถึงให้การสนับสนุนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ทริสเรทติ้งจึงมองว่าชื่อเสียงของธนาคารและชื่อเสียงของกลุ่มนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของกลุ่ม MUFG ในระดับคณะกรรมการและผู้บริหารของธนาคารด้วย
ขยายธรุกิจที่มีความหลากหลาย
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น เครือข่ายที่มีอยู่อย่างกว้างขวางของกลุ่ม MUFG จะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าอื่น ๆ ได้ ธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย โดยมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อและเงินฝากที่ระดับ 7% และ 19% ตามลำดับในปี 2560 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และบริษัทญี่ปุ่นเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของสินเชื่อ
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 โดยวัดจากขนาดสินทรัพย์รวมมูลค่า 2.09 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 ธนาคารยังเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 14.1% จากธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 11 แห่งในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเทียบเคียงได้กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากอยู่ที่ 11.7% พอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีการกระจายตัวค่อนข้างดีซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 กลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ทั้งของไทยและญี่ปุ่นมีสัดส่วน 26% และ 11% ตามลำดับ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีสัดส่วน 15% และลูกค้ารายย่อยมีสัดส่วน 48% ทั้งนี้ สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (22% ของสินเชื่อรวม) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (15%) และสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (11%)
ในมุมมองของทริสเรทติ้งความสัมพันธ์กับลูกค้าที่แน่นแฟ้นขึ้นจะช่วยให้ธนาคารสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงานกระจายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยธนาคารคาดว่าจะบรรลุผลได้จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างครบวงจรให้แก่ลูกค้า อาทิเช่น วาณิชธนกิจ บริการอัตราแลกเปลี่ยน การบริหารธุรกรรมทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม และบริการบริหารความมั่งคั่งแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง อัตราส่วนค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมของธนาคารกรุงศรีอยุธยาอยู่ที่ระดับ 20% ในปี 2560 เทียบเคียงได้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย โดยส่วนใหญ่เป็นค่าธรรมเนียมจากการชำระเงิน การให้สินเชื่อ และนายหน้าขายประกัน ธนาคารยังประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารกองทุน และธุรกิจนายหน้าประกันผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนอื่น ๆ อีกด้วย
มีเงินกองทุนเพียงพอต่อการเติบโต
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET-1) ของธนาคารจะอยู่ที่ระดับ 12%-13% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเพียงพอต่อการขยายธุรกิจของธนาคาร ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 7%-8% และสัดส่วนเงินปันผลที่คงอยู่ที่ระดับ 25%-30% ในช่วงเวลาเดียวกัน ในมุมมองของทริสเรทติ้ง เงินกองทุนของธนาคารกรุงศรีอยุธยาอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทย สะท้อนถึงอัตราการเติบโตของสินเชื่อในอัตราที่สูงในช่วงปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการปันผลในระดับค่อนข้างต่ำก็ตาม ณ เดือนกันยายน 2561 อัตราส่วน CET-1 ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 12.76% เทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับประมาณ 15% โดย CET-1 มีสัดส่วน 77.3% ของเงินกองทุนรวม
ความสามารถในการทำกำไรปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะคงความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทย โดยคาดว่าธนาคารจะสามารถคงอัตราส่วนกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยหลังจากปรับค่าความเสี่ยง ที่อยู่ในระดับสูงได้ ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจลูกค้ารายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 2.38% ในปี 2560 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.96% อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่สูงของธุรกิจลูกค้ารายย่อยและจากการขยายสาขายังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการทำกำไร อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 48% ในปี 2560 ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 44% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ระดับ 1.2% ในปี 2560 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย
คุณภาพสินทรัพย์อยู่ภายใต้การควบคุม
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีได้ ในขณะที่ยังคงเพิ่มการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้แข็งแกร่งขึ้น จากสินเชื่อที่มีการกระจายตัวและการบริหารความเสี่ยงที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทริสเรทติ้งยังประมาณการต้นทุนทางเครดิตของธนาคารในระดับ 1.5%-1.6% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อพิจารณาจากลักษณะของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ต้นทุนทางเครดิตของธนาคารอยู่ที่ระดับ 1.53% ในปี 2560 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย
ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ว่าอัตราการก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งนับรวมการตัดหนี้สูญจะคงอยู่ในระดับ 1.2%-1.3% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 1.2% ในปี 2560 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก 1.3% ในปี 2559 ธนาคารยังคงอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม โดยธนาคารมีอัตราส่วนดังกล่าวซึ่งรวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 2.04% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 3.10% อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังมีความเสี่ยงต่อกลุ่มสินเชื่อที่มีความเปราะบาง ทริสเรทติ้งมองว่าอัตราส่วนสินเชื่อเฝ้าระวังและอัตราการวกกลับของหนี้ที่ปรับโครงสร้างที่มีการทยอยเพิ่มขึ้นเป็นตัวบ่งชี้ปัจจัยกดดันของคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดย ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 อัตราส่วนสินเชื่อเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.64% จากระดับ 3.47% ณ สิ้นปี 2560 นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเพิ่มการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้แข็งแกร่งขึ้นจากอัตราส่วนการกันสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 157% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 139% ในขณะที่สำรองส่วนเกินของธนาคารก็เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 162% ในช่วงเวลาเดียวกัน
เงินทุนปานกลาง
ในความเห็นของทริสเรทติ้ง สถานะเงินทุนของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะคงอยู่ในระดับปานกลางในอีก 3 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทย โดยธนาคารจะต่อยอดจากกลุ่มลูกค้าที่มีความหลายหลายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเงินทุน เพิ่มเติมจากความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากกลุ่ม MUFG ซึ่งทริสเรทติ้งถือว่าเป็นเงินทุนที่มีเสถียรภาพและมีต้นทุนต่ำที่ไม่ได้ถูกสะท้อนอยู่ในอัตราส่วนทางการเงิน สำหรับกลยุทธ์ด้านเงินทุนของธนาคาร ความสัมพันธ์ที่ธนาคารได้สร้างกับลูกค้าจากการให้บริการที่เพิ่มมูลค่าจะส่งผลให้ธนาคารสามารถขยายฐานเงินฝากโดยเฉพาะบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ได้
ในปัจจุบัน ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังไม่มีฐานเงินฝากต้นทุนต่ำที่มีเสถียรภาพสูงในระดับสูงเทียบเท่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารก็มีความคืบหน้าในการขยายฐานเงินทุน โดยสัดส่วนเงินฝากต่อแหล่งเงินทุนรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 78% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 จาก 70% ณ สิ้นปี 2559 ตัวเลขล่าสุดยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 86% สัดส่วนของ CASA ต่อสินเชื่อรวมตั๋วแลกเงินอยู่ที่ระดับ 44% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 62% เช่นเดียวกัน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของธนาคารที่ระดับ 121% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 101%
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่า แหล่งเงินกู้และความช่วยเหลือที่ธนาคารได้รับจากกลุ่ม MUFG ถือเป็นปัจจัยเสริมด้านสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารเองนั้นก็มีสถานะด้านสภาพคล่องที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลาง โดย ณ เดือนกันยายน 2561 สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมีสัดส่วนที่ระดับ 24% ของเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน ในขณะที่สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่อหนี้สินระยะสั้นอยู่ที่ระดับ 24% ในช่วงเวลาเดียวกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงสถานภาพการเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม MUFG และจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากธนาคารแม่ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงในกรณีที่สถานะด้านเครดิตของกลุ่ม MUFG มีการเปลี่ยนแปลง หรือในกรณีที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่มีต่อกลุ่มเปลี่ยนไป