GUNKUL ตั้งเป้ารายได้ปี 62 ที่ 7.5 พันลบ.จากปีนี้คาด 6 พันลบ.หลังรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าเต็มปี- COD เพิ่มอีก 105 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 11, 2018 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 62 จะขึ้นแตะระดับ 7,500 ล้านบาท หรือเติบโต 25% จากปีนี้ ที่คาดว่าจะมีรายได้ 6,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เซนได โอคุระ ขนาดติดตั้ง 38.1 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คิมิตสึ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 40.41 เมกะวัตต์ เมืองคิมิตสึ เฟสแรกเข้ามารับรู้รายได้เต็มปี นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจซื้อมาขายไป และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

โดยสัดส่วนรายได้ในปี 62 จะมาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 3,750 ล้านบาท และในส่วนที่เหลือ 3,750 ล้านบาท จะมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจซื้อมาขายไป จากปี 61 นี้จะมาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 2,600-2,700 ล้านบาท รับเหมาก่อสร้าง 2,000 และธุรกิจซื้อมาขายไปที่ราว 1,200-1,300 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าปี 62 จะมีการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 105 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการ เมืองคิมิตสึ กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ ในวันที่ 1 ก.พ. 62 และในช่วงไตรมาส 1/62- ไตรมาส 2/62 ในโครงการ CPF Solar Rooftop กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ และโครงการสุดท้ายคือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศมาเลเซีย ที่มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 35 เมกะวัตต์ จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ช่วงปลายปี 62 โดยสิ้นปีนี้สิ้นปี 61 นี้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 401 เมกะวัตต์

ในส่วนของธุรกิจก่อสร้าง ปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่ราว 800 ล้านบาท โดยจะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ราว 300 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะไปรับรู้ในปี 62 ทั้งหมด และมีแผนที่จะเข้าประมูลงานใหม่ราว 33,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง มูลค่า 11,000 ล้านบาท โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้าภูมิภาค ในจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี นครราชสีมา มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท และโครงการติดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อย 40 แห่ง ขนาด 115-230 กิกะวัตต์ มูลค่า 11,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะได้งานไม่ต่ำกว่า 10% ของมูลค่างานทั้งหมด

ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในประเทศเวียดนาม เพื่อที่จะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 450 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 300 เมกะวัตต์ และ พลังงานแสงอาทิตย์ 150 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/62

ขณะที่งบลงทุนสำหรับปี 62-64 บริษัทตั้งไว้ที่ 20,000 ล้านบาท เพื่อที่จะรองรับการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า ในประเทศญี่ปุ่น ราว 15,000 ล้านบาท และอีก 5,000 ล้านบาท จะลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในมาเลเซีย และอื่นๆเพิ่มเติม

นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (พีดีพี 2018) ในภูมิภาค ที่จะออกมาสนับสนุนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ในภาคธุรกิจและครัวเรือน จะส่งผลให้ความต้องการใช้โซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้นทั้งในตลาดประเทศไทย และเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ทางบริษัทเข้าไปมีการรุกตลาดมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ