นายไพฑูรย์ กำชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนการดำเนินงานปี 62 เพื่อเสนอให้กับที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร คาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในต้นปี 62 เบื้องต้นตั้งเป้าขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อกระจายแหล่งที่มารายได้และลดความเสี่ยงในการพึ่งพางานรับเหมาในประเทศ อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่างานในต่างประเทศมีความสามารถทำกำไรได้ดีกว่า ปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศที่ 5%
ขณะเดียวกันบริษัทยังมองหาโอกาสเข้าลงทุนในเมียนมา ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการเข้ายื่นประมูลงานโครงการสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย (substation) มูลค่าราว 300 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการรอเจ้าของโครงการในเมียนมาดำเนินการเจรจากับผู้ถือหุ้นและธนาคารพาณิชย์ คาดว่าสามารถสรุปได้ในปี 62
อีกทั้งอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นในเวียดนามจำนวนหลายราย เพื่อสร้างเครือข่ายและโอกาสในการเข้ารับงานสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าย่อย โดยคาดว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนได้ภายในปี 62 อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่าการขยายธุรกิจในเวียดนามยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งในระยะสั้นและระยะยาวยังมองเป็นโอกาสการเติบโตขาขึ้น (upside)
ส่วนแผนปิดปรับปรุงฐานกังหันลมจำนวน 26 ฐาน คาดว่าจะมีการเลื่อนการปรับปรุงไปในช่วงไตรมาสที่ 1/62 จากเดิมคาดไว้ว่าปีนี้ ซึ่งคาดว่าสามารถเริ่มปรับปรุงได้ในเดือนก.พ.และแล้วเสร็จในอีก 4 เดือนครึ่งข้างหน้า โดยจะใช้งบลงทุนสำหรับการก่อสร้าง 140 ล้านบาท
แต่บริษัทยังไม่สามารถประมาณการค่าเสียโอกาสจากการหยุดซ่อมแซม (Lost of production) ของโครงการได้ อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่าการที่มีการเลื่อนปิดปรับปรุงไปในช่วงไตรมาสที่ 1/62 จะมีผลดี เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิต (output) ของการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำกว่าในไตรมาสอื่น และต่ำสุดในรอบปี
นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ DEMCO เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทได้รับหนังสือยืนยันการจ้างงานจัดหาและจ้างก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 kV จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการงานจัดหาและจ้างก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230kV จอมเทียน – สัตหีบ1, บางปะกง –พานทอง และ คลองด่าน-บางปะกง ซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 24. 9 กิโลเมตร สำหรับโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานระยะที่ 1 และ 2 ส่วนสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) มูลค่างานรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 404,477,473.70 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 23 เดือน
แนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงที่เหลือของปี 2561 และปี 2562 บริษัทมั่นใจว่ายังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทเตรียมแผนเข้าประมูลงานก่อสร้างสถานีโรงไฟฟ้าย่อย และระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่าโครงการราว 10,000 ล้านบาท รวมทั้งงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ราว 6,000 – 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้งานในมือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 2,841.81 ล้านบาท
สำหรับแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ บริษัทได้มองหาโอกาสในการเข้าลงทุนใน เมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้และลดความเสี่ยงในการพึ่งพางานรับเหมาในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นกระจายความเสี่ยงในอนาคต