ทริสเรทติ้ง จัดอันดับหุ้นกู้ พร้อมหุ้นกู้สำรองของ CPALL วงเงินรวมไม่เกิน 1.5 หมื่นลบ. ที่ "A/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 12, 2018 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ระดับ "A+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ "A" ทั้งนี้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมีความแตกต่างจากอันดับเครดิตองค์กรเนื่องจากบริษัทมีหนี้สินที่มีหลักประกันในระดับที่สูง ตลอดจนลักษณะของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันก็มีลักษณะที่ด้อยสิทธิกว่าหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้เดิมของบริษัท

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความสำเร็จและสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทย นอกจากนี้ ลักษณะของธุรกิจค้าปลีกที่สร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ตลอดจนการมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็งก็เป็นจุดแข็งที่ส่งเสริมอันดับเครดิตอีกด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่สูงของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มผู้ค้าปลีก นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งส่งผลกระทบในด้านลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคอีกด้วย

ผลประกอบการของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ระดับ 374,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 36,706 ล้านบาท ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น 7.9% มาอยู่ที่ระดับ 26,058 ล้านบาท

แม้ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับสูง แต่ก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุน (หนี้สินทางการเงินรวมถึงหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนคงค้างและค่าเช่าดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้ว) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70.3% ณ เดือนกันยายน 2561 จากระดับ 74.9% ในปี 2560 และ 78.8% ในปี 2559

กระแสเงินสดเพื่อรองรับการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18.5% ในปี 2560 และ 19.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) จาก 13.5% ในปี 2559 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 4.7 เท่าในปี 2560 และ 4.9 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 4.2 เท่าในปี 2559

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำและความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้เช่นเดิมโดยจะยังคงสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีต่อไปได้ ในขณะเดียวกัน การมีเงินสดในมือจำนวนมากและกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจะช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทในช่วงการขยายการลงทุน

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 520,000-580,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2561-2563 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 49,000-52,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5-8 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 60% ภายในปี 2563 แม้ว่าจะไม่มีการจำหน่ายหุ้นที่บริษัทถือใน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ก็ตาม

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดที่ใช้รองรับการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาด หรือหากบริษัทมีการขยายการลงทุนจำนวนมากจนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ