พร้อมด้วยผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายอีก 3 แห่ง ได้แก่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ,บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) และบล.โนมูระ พัฒนสิน
นางสาวสุธางค์ คนศิลป กรรมการผู้จัดการ บล. ทรีนีตี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน SAAM กล่าวว่า หุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SAAM จำนวน 80 ล้านหุ้น จะเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 24-27 ธันวาคม 2561 และคาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ต้อนรับปีใหม่ต้นเดือน มกราคม 2562
การกำหนดราคา IPO ที่หุ้นละ 1.80 บาท ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมากและมีส่วนลดให้แก่นักลงทุน มั่นใจว่าหุ้น SAAM จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดีเยี่ยม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้นำเสนอข้อมูลหลักทรัพย์ หรือ โรดโชว์ มีนักลงทุนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนักลงทุนมีความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ที่มีฐานรายได้และกำไรที่แน่นอนไปตลอด 20 ปี และมองเห็นแนวโน้มในอนาคต ที่มีโอกาสในการขยายฐานรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง จากเป้าหมายการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมกว่าอีกล้านเมกะวัตต์
นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAAM กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนระดมทุน เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่กลุ่มบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้า และเข้าร่วมลงทุนในบริษัทอื่น ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมถึงใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมของสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต
ทั้งนี้ SAAM เป็นผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย และลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจ แบ่งเป็น ธุรกิจที่ 1 ธุรกิจจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการที่เกี่ยวข้องภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยร่วมกับลูกค้า ได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการภายใต้สัญญาระยะยาว 20 ถึง 25 ปี จำนวน 17 โครงการ บนพื้นที่กว่า 750 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เพชรบุรี ลพบุรี อุบลราชธานี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสร้างรายได้และกำไรที่มั่นคงและแน่นอนในระยะยาว
ธุรกิจที่ 2 ธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย ให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายผ่านบริษัทย่อย จำนวน 8 บริษัท ทั้งนี้ มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจำนวน 2 โครงการ ซึ่งบริษัทพัฒนาจนได้รับใบอนุมัติสนับสนุนค่าไฟฟ้าระบบ FiT ที่ 24 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงแล้ว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 19.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาโครงการดังกล่าวจนเป็นโครงการที่พร้อมในการก่อสร้างเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าตามเงื่อนไขของสัญญา
ธุรกิจที่ 3 ธุรกิจลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ตั้งอยู่ที่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จำนวน 2.0 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าระบบ FiT ที่ 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ระยะเวลาเสนอขายตามสัญญา 25 ปี และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558