นายวชิระ วุฒิกุลประพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลราชธานี (RJH) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 62 เติบโต 10-15% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปี 61 ที่มั่นใจว่ารายได้จะเติบโตตามเป้าหมาย 15%
สำหรับปัจจัยที่หนุนรายได้ในปีหน้ามาจากการที่โรงพยาบาลจะเปิดศูนย์ฟอกไตเทียมเฟสใหม่ที่จะมีเครื่องฟอกไตเทียมเพิ่มอีก 8 ยูนิต จากปัจจุบันมีเครื่องฟอกไฟเทียมทั้งหมด 27 ยูนิต โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตเปิดให้บริการ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ม.ค.62 โดยศูนย์ฟอกไตเทียมเฟสใหม่จะเป็นการให้บริการในระดับพรีเมียมขึ้นจากเดิม อัตราค่าบริการฟอกไตเทียมของเฟสใหม่จะอยู่ที่ 2,000-2,500 บาท/ครั้ง จากเดิมที่ 1,500-2,000 บาท/ครั้ง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนรายได้ของโรงพยาบาลให้เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลราชธานียังคงเน้นการให้บริการใน 4 กลยุทธ์หลักที่ตั้งไว้ คือ การให้บริการของศูนย์โรคใจ (Heart Center) การให้บริการสแกนสมอง (MRI) การให้บริการการส่องกล้อง (MRI) และการตรวจสุขภาพ (Check up) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ทั้ง 4 กลยุทธ์หลักที่โรงพยาบาลมุ่งเน้นเห็นการเติบโตแต่ละด้านที่ดีราว 100% และการที่มีศูนย์เฉพาะทางทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของคนไข้เพิ่มขึ้นมาแตะจุดสูงสุดที่ 1,600 บาท/คน/วัน ในปัจจุบัน จากเดิมที่ 1,559 บาท/คน/วัน ซึ่งในปีนี้โรงพยาบาลไม่มีการปรับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น มีเพียงแค่การปรับค่ายาและเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นเท่านั้น
นายวชิระ กล่าวว่า การมุ่งเน้นบริการเฉพาะทางมากขึ้นนอกจากที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของคนไข้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้สัดส่วนคนไข้ที่ชำระเงินสดเพิ่มขึ้นมาเป็น 58% ในปัจจุบัน จากต้นปีที่ 55% และคาดว่าในปี 62 จะเพิ่มเป็น 60% ในขณะที่สัดส่วนคนไข้ประกันสังคมจะอยู่ที่ 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 42% โดยที่สัดส่วนคนไข้ประกันสังคมลดลงเป็นเพราะปัจจุบันจำนวนคนไข้ประกันสังคมของโรงพยาบาลที่จ.พระนครศรีอยุธยาใกล้เต็มโควตา 161,000 คนแล้ว ซึ่งปัจจบันอยู่ที่ 160,000 คน ส่วนโรงพยาบาลที่โรจนะอยู่ที่ 22,000 คน จากโควตาทั้งหมด 35,00 คน ทำให้โรงพยาบาลเตรียมลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่เพิ่มในพื้นที่เดิมที่เหลืออยู่ของโรงพยาบาลในอยุธยา เพื่อช่วยรองรับคนไข้ปะกันสังคมเพิ่ม
โรงพยาบาลแห่งใหม่ในอยุธยาจะเป็นอาคารสูง 9 ชั้น บนพื้นที่ 10 ไร่ จำนวน 120 เตียง เงินลงทุน 650-700 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มออกแบบอาคารในช่วงเดือน ม.ค.62 และหลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนการขออนุญาตผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 62 และคาดว่าแล้วเสร็จพร้อมให้บริการภายในปี 64 ซึ่งเงินลงทุนของโรงพยาบาลแห่งใหม่จะมาจากเงินจากการระมทุน IPO ที่เหลืออยู่ 420 ล้านบาท กระแสเงินสดของโรงพยาบาล และเงินกู้ธนาคารเล็กน้อย
ด้านอัตรากำไรสุทธิของโรงพยาบาลในปี 62 จะพยายามรักษาให้ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 15% ซึ่งโรงพยาบาลยังคงเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่มีการลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงไป ทำให้อัตรากำไรสุทธิกลับมาดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/61 พร้อมกับการใช้ทรัพยากรในโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพาะอัตราการใช้เตียงที่อยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องที่ 90% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม