MILL ย้ำเป้ารายได้ปี 62 โต 10% เล็ง KMS มีกำไร 50-100 ลบ.หลังเดินเครื่องเหล็กเกรดพิเศษตามเป้า 1 หมื่นตัน/เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 17, 2018 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง รักษาการประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.มิลล์คอน สตีล (MILL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 62 เติบโต 10% จากปีนี้ จากแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่ยังมีอย่างต่อเนื่องแม้ประมาณการการเติบโตยอดผลิตรถยนต์ในประเทศยังชะลอตัว ประกอบกับความต้องการเหล็กเกรดพิเศษยังมีความต้องการสูง เนื่องจากปัจจุบัน supply ยังขาดตลาด

ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าบริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด (KMS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง MILL กับโกเบ สตีล จากญี่ปุ่นฝ่ายละ 50% มีแนวโน้มผลประกอบการดีขึ้นจากเริ่มมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ผลิตเหล็กเกรดพิเศษได้ตามเป้าหมาย 1 หมื่นตัน/เดือน จากช่วงที่ผ่านมาทำได้เพียง 3 พันตัน/เดือน

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายกำไรปี 62 ของ KMS ไว้ที่ระดับ 50-100 ล้านบาท จากช่วงที่ผ่านมามีผลขาดทุน โดยคาดว่าจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 70-80% จากปัจจุบัน 50% พร้อมกันนี้เหล็กเกรดพิเศษสามารถทำกำไรได้ดีกว่า เนื่องจากเหล็กเกรดธรรมดามีการแข่งขันด้านราคาสูง ปัจจุบันเหล็กเกรดพิเศษมีราคากว่า 20 บาทปลาย ๆ ถึง 30 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เหล็กเกรดธรรมดามีราคาอยู่ราว 20 บาทต้น ๆ ต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ ในปี 62 บริษัทมีแผนลงทุนปรับปรุงโรงงานและลงทุนเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตรวมถึงลดแรงงานคน ทำให้บริษัทสามารถมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นจากมีต้นทุนการผลิตลดลง โดยคาดว่าบริษัทสามารถลดอัตราการสูญเสียในกระบวนการผลิตลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 0.1% จากเดิม 0.5-0.7%

พร้อมคาดว่าจะมีการเริ่มใช้พลังงานทดแทน อาทิ โซลาร์รูฟท็อปและก๊าซ LNG เพื่อลดต้นทุนพลังงานในโรงงานมากขึ้นและเพื่อควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยการลงทุนเป็นลักษณะที่มีผู้ประกอบการมาลงทุนให้ทั้งหมด

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีสมาคมผู้ประกอบการเหล็กมีการเสนอแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น เพื่อให้มีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

โดยกลุ่มผู้ประกอบการเหล็กเส้น เสนอแผนระยะสั้นให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานว่าด้วยการกำกับและดูแลโรงงานมาตรา 8 ควบคู่กับมาตรา 32 เพื่อควบคุมขนาดและจำนวนของโรงงานในการขยายการผลิตเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีปัญหาสินค้าล้นตลาด โดยมีกำลังการผลิตเหล็กเส้นรวมกว่า 10 ล้านตัน จากความต้องการใช้ในประเทศเพียง 3 ล้านตัน ประกอบกับปัจจุบันมีแนวโน้มผู้ประกอบการจีนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้น จากผลของมาตรการควบคุมมลพิษของจีนที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่า ครม.จะมีการพิจารณาแล้วเสร็จใน 2-3 เดือนข้างหน้าเพื่อประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงต่อไป

นอกจากนี้สมาคมผู้ประกอบการเหล็กได้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการไม่ให้นำเข้าเหล็กเส้น จากยังมีผู้ประกอบการบางกลุ่มต้องการได้รับอนุญาตให้นำเข้า ซึ่งทางสมาคมฯได้มีการชี้แจงว่าปัจจุบันสินค้าประเภทดังกล่าวมีการผลิตมากเกินความต้องการอยู่แล้ว โดยความต้องการใช้ในประเทศมีเพียง 20-30% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

ด้านนายมาซาทาคะ ชิโมซึซะ ประธานกรรมการบริหาร KMS ผู้ผลิตและจำหน่าย เหล็กลวดและเหล็กลวดเกรดพิเศษ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต 160,000 ตัน/ปี ส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นการผลิตเหล็กเหล็กลวดเกรดธรรมดา และราว 20-30% เป็นการผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษ โดยปีหน้าตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 ตัน/ปี พร้อมกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษกว่า 30% หรือประมาณ 10,000 ตัน/เดือน และคาดว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตเป็น 400,000 ตัน/ปีได้ภายในปี 63

ทั้งนี้ KMS ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กลวดเกรดพิเศษรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย จากในอดีตนำเข้าจากต่างประเทศ 100% โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ ยางรถยนต์ เครื่องยนต์ สปริง น็อต สกรู โชคอัพ suspension เป็นต้น

"ในปีนี้ โดยหลักๆ แล้วการผลิตของบริษัทยังเป็นเหล็กลวดเกรดธรรมดา สำหรับเหล็กลวดเกรดพิเศษได้ผลิตและส่งให้ลูกค้าทดลองสินค้าแล้วเฉลี่ย 3,000 ตัน/เดือน ซึ่งนับว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี บริษัทฯจึงได้มีแผนที่ขยายสัดส่วนการผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น รวมถึงประเทศจีนที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและความเป็นไปได้"

สำหรับภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจเหล็กลวดเกรดพิเศษ นายมาซาทาคะ กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศไทย จึงไม่มีปัญหาด้านการแข่งขันราคาภายในประเทศ มีความได้เปรียบ และสามารถแข่งขันการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศในประเภทเดียวกัน เนื่องจากบริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำกว่าการนำเข้า รวมทั้งบริษัทยังได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)อีกด้วย ส่งผลให้บริษัทมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิต และตลาดได้อย่างเต็มที่

ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดึงดูดการลงทุน สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากทางผู้ผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ ขยายการลงทุนมาลงในพื้นที่ อีอีซีมากขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ