นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจหล่อลื่น บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้ายอดขายน้ำมันหล่อลื่นในปี 62 ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 5-10% จากราว 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ตามปริมาณขายทั้งในประเทศและต่างประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 190 ล้านลิตร จากประมาณ 175 ล้านลิตรในปีนี้ โดยตลาดในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ตามภาพรวมเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่คาดว่าจะเติบโตราว 4-5% ในปีหน้า และการขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ขณะที่ตลาดน้ำมันหล่อลื่นในประเทศสำหรับปีนี้ขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ราว 1-2% หลังเผชิญกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นปี ทำให้ราคาน้ำมันหล่อลื่นสูงขึ้นกระทบต่อความต้องการใช้ และตลาดยังมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่ในปี 62 คาดว่าตลาดในประเทศจะกลับมาขยายตัวได้มากกว่าปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการใช้น้ำมันหล่อลื่นในเครื่องจักรกลต่าง ๆ เพื่อรองรับงานโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ตลาดอุตสาหกรรมขยายตัว อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 4/61 เริ่มปรับลดลงก็น่าจะส่งผลต่อราคาน้ำมันหล่อลื่นให้ปรับตัวลงในระยะต่อไปด้วยเช่นกัน
"แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันหล่อลื่นในโลกก็จะไม่เติบโต เพราะเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะมามากขึ้น ขณะที่น้ำมันหล่อลื่นชนิดเกรดพิเศษมีอายุเปลี่ยนถ่ายนานขึ้นก็จะมาทดแทนน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ทำมาจากฟอสซิล รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเลย แต่ดูเรื่องการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและอื่น ๆ แนวโน้มน้ำมันหล่อลื่นทุกคนจะเปลี่ยนจากเดิมที่มุ่งเน้นยอดขายไปมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์และการให้บริการ สังเกตได้จากธุรกิจปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า คาดการณ์ว่าศูนย์ให้บริการยานยนต์อย่าง FIT Auto หรือเจ้าอื่น ๆ จะเติบโตสูงขึ้นเพราะส่วนหนึ่งลูกค้าเริ่มมีความนิยมและสะดวกกว่าการเข้าศูนย์บริการรถยนต์ที่ใช้เวลานานกว่า"นายบุรณิน กล่าว
นายบุรณิน กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการขายในกลุ่มยานยนต์ 48% และอุตสาหกรรม 52% แต่มีแผนจะปรับเปลี่ยนสัดส่วนดังกล่าวเป็นกลุ่มยานยนต์ 40% และอุตสาหกรรม 60% ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงในอนาคตหลังจะมีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาเพิ่มขึ้น แม้ว่ามาร์จิ้นในตลาดอุตสาหกรรมจะไม่ได้สูงเท่ากลุ่มยานยนต์ก็ตาม
สำหรับงบลงทุนในปี 62 เบื้องต้นบริษัทตั้งไว้ประมาณ 1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ใช้เงินลงทุนไปราว 250 ล้านบาท โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ในปีหน้าราว 700 ล้านบาทจะใช้ในการก่อสร้างคลังสินค้าใน จ.ฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าน้ำมันหล่อลื่นของ ปตท. เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ผ่านการสั่งการโดยคอมพิวเตอร์ในการจัดของ ส่งของ และกระจายสินค้า ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 63
ส่วนเงินลงทุนอีก 150 ล้านบาทใช้ขยายศูนย์บริการ FIT Auto ในประเทศอีก 10 สาขา ทำให้จะมีสาขารวมทั้งสิ้น 50 สาขา จากสิ้นปีนี้ที่มี 40 สาขา โดยจะเน้นไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งเน้นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
ขณะที่เงินลงทุนที่เหลือ 150 ล้านบาทจะใช้รองรับขยายงานต่างประเทศ ด้วยการจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ,เอเชียใต้ ที่อาจจะเป็นอินเดีย หรือบังกลาเทศ จากปีนี้ได้จัดตั้งบริษัท PTTOR CHINA เพื่อทำธุรกิจหล่อลื่นในจีน และจะขยายไปสู่ธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ในอนาคตด้วย โดยธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นในจีนก็จะมีการจ้างโรงงานผลิตน้ำมันหล่อลื่นตามมาตรฐานของบริษัท พร้อมกับทำการตลาดมากขึ้น ซึ่งน่าจะเห็นผลได้ดีในปีหน้า ขณะที่มีแผนจะขยายศูนย์บริการ FIT Auto ไปยังเมียนมา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 แห่งในลาว
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายน้ำมันหล่อลื่นในต่างประเทศในปี 62 เติบโต 15-20% หลังจากพลาดเป้าในปีนี้ที่ทำปริมาณขายได้เพียง 25 ล้านลิตรใกล้เคียงกับปี 60 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามแข่งขันทางการค้าและตลาดเพื่อนบ้านที่มีค่าเงินอ่อนค่า แต่ก็นับว่าเป็นปีที่ปรับตัวของธุรกิจในต่างประเทศ โดยปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก โดยหลักอยู่ในเมียนมา 40% , แอฟริกาตะวันออกและเอเชียใต้ 30% ส่วนที่เหลืออยู่ในโซนอาเซียน และตะวันออกไกล ซึ่งรวมจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี
"ปัจจุบันตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกจากไทย แต่ตอนนี้เห็นว่าการส่งออกจากไทยอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราอาจจะส่งออกจากไทยในกลุ่มที่เป็นมาตรฐานสูง ส่วนมาตรฐานปานกลางก็อาจจะไปผลิตที่โน่นภายใต้การควบคุมดูแลของเรา"นายบุรณิน กล่าว
นายบุรณิน กล่าวว่า สำหรับการขายน้ำมันหล่อลื่นในประเทศของบริษัทนั้น ในปี 62 ตั้งเป้าไว้ที่ 160 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่พลาดเป้าและน่าจะทำได้ราว 150 ล้านลิตร จากปริมาณตลาดรวมทั้งหมด 750 ล้านลิตร แต่บริษัทยังมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ราว 32% ซึ่งก็เป็นช่วงปรับฐานของบริษัทด้วยที่จะมีการปรับปรุงภายในเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ที่หันมาให้ความสนใจกับน้ำมันหล่อลื่นที่มีคุณภาพสูง ยืดระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่น รวมถึงการขายผ่านช่องทางต่าง ๆ มากขึ้นจากเดิมที่ผู้บริโภคจะซื้อผ่านร้านค้าย่อย