โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) มองทิศทางผลประกอบการยังเป็นบวกในช่วงไตรมาส 4/61 แม้ว่ารายได้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/61 ที่มีวันหยุดยาวหลายวัน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังเติบโต โดยได้รับผลดีจากการออกโมเดลใหม่ๆ ของค่ายรถยนต์
สำหรับผลประกอบการทั้งปี 61 กำไรปกติจะทำสถิติสูงสุดใหม่ แม้รายได้รวมจะลดลงราว 7% ซึ่งเป็นผลจากการขายหุ้นบริษัทย่อย คือ บริษัท บางกอกสปริงอินดัสเตรียล จำกัด (BSK) ไปในปีที่แล้ว หากตัดผลดังกล่าวรายได้ปีนี้จะเพิ่มขึ้น 10% และยังได้รับปัจจัยหนุนจากยอดผลิตรถยนต์ของอุตสาหกรรมในปีนี้ที่เติบโตได้ถึง 6% มาเป็น 2.1 ล้านคัน รวมทั้งลูกค้ารายใหญ่อย่างคูโบต้าเพิ่มกำลังการผลิต 14% เป็น 75,000 คัน
ขณะที่ผู้บริหาร SAT ประเมินแนวโน้มผลประกอบการปี 62 จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 61 ภายใต้สมมติฐานยอดผลิตรถยนต์รวมของอุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.2 ล้านคัน ประกอบกับ จะรับรู้ยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าใหม่ที่เข้ามา ส่วนประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบ โดยคำสั่งซื้อของลูกค้าในปัจจุบันยังไม่ได้ปรับลดลง
ราคาหุ้น SAT ปิดเที่ยงวันนี้ที่ 17.00 บาท ลดลง 0.20 บาท (-1.16%) ขณะที่ SET +0.31%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 27.50 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อ 25.50 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 27.50 ทรีนีตี้ ซื้อ 25.30 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 26.00
นายถกล บรรจงรักษ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทิศทางผลประกอบการยังเป็นบวกในช่วงไตรมาส 4/61 แม้ว่ารายได้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/61 ที่มีวันหยุดยาวหลายวัน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังเติบโตดีต่อเนื่อง โดยได้ผลบวกจากยอดผลิตรถยนต์ของประเทศในช่วงเดือน ต.ค-พ.ย.ที่เติบโต 7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะมีการออกรถยนต์โมเดลใหม่ ขณะที่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ นเองจากคำสั่งซื้อใหม่ๆ ยังทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ด้วย
ทั้งนี้คาดว่ากำไรปกติจะจะทำสถิติสูงสุดใหม่ แม้รายได้รวมจะลดลงราว 7% จากการขายหุ้นบริษัทย่อย BSK ไปในปีที่แล้ว หากตัดผลดังกล่าวรายได้ปีนี้จะยังเพิ่มขึ้น 10% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากยอดผลิตรถยนต์ของอุตสาหกรรมเติบโตได้ถึง 6% เป็น 2.1 ล้านคัน ลูกค้ารายใหญ่คูโบต้าเพิ่มกำลังการผลิต 14% เป็น 75,000 คัน
บทวิเคราะห์ของ บล.หยวนต้า คงประมาณการกำไรปกติในปี 61 ไว้ที่ 874 ล้านบาท เติบโต 25%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใหม่ของบริษัท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นขยับขึ้นเป็น 18.0% จากปี 60 ที่ 15.5% ส่วนปี 62 คาดกำไรปกติยังเติบโตดีต่อเนื่อง 10%YoY เป็น 965 ล้านบาท รับผลบวกเต็มปีจากออร์เดอร์ส่งออกไปยังสหรัฐมูลค่า 300 ล้านบาท
ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กำไรปกติในไตรมาส 4/61 คาดว่าจะลดลง 10.6% q-q มาอยู่ที่ 222 ล้านบาท จากผลกระทบวันหยุดยาวที่มีมาก แต่หากเทียบ y-y คาดว่าจะยังเติบโตเด่นตามอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยล่าสุดเตรียมรับรู้รายได้การส่งออกเพลาข้างไปสหรัฐมูลค่ารวม 300 ล้านบาทเริ่มตั้งแต่ไตรมาสนี้เป็นต้นไป และคาดช่วยผลักดันกำไรปกติทั้งปี 61 คาดเติบโตแตะ 878 ล้านบาท หรือราว 31.1% y-y
ขณะที่ผู้บริหาร SAT ประเมินแนวโน้มผลประกอบการจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 61 ภายใต้สมมติฐานยอดผลิตรถยนต์รวมของอุตสาหกรรมยานยนต์คาดอยู่ที่ 2.2 ล้านคัน ประกอบกับ บริษัทจะรับรู้ยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าใหม่ที่เข้ามาเมื่อปีที่แล้ว ทั้งจาก GKN ที่คาดว่าจะมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านบาท การส่งออกเพลาข้างสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ในอินโดนีเซียคาดเพิ่มเป็น 90-100 ล้านบาท และเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่คาดปรับเพิ่มยอดคำสั่งซื้อเป็น 78,000 คัน
นอกจากนี้ บริษัทยังส่งออกเพลาข้างไปยังประเทศสหรัฐเต็มปี และเมื่อรวมกับอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่คาดยังเพิ่มขึ้นและการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้กำไรปกติปี 62 เติบโตต่อเนื่อง
ท่ามกลางผลดำเนินงานปี 62 คาดเติบโตดีต่อจากปี 61 หลังได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรยานยนต์ที่สดใส บวกกับรับรู้ยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐคาดกระทบจำกัด ทำให้มีมุมมองบวกต่อ SAT และเลือกเป็น Top Pick ของกลุ่มยานยนต์แทน AH ที่คาดอาจยังเผชิญแรงกดดันจากผลดำเนินงานที่อ่อนแอของ SGAH และนอกจากนี้ด้วยการปรับตัวลงแรงของราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับผลดำเนินงานของบริษัท ทำให้มองเห็นเป็นโอกาสในการหาจังหวะเข้าซื้อหุ้น
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและประเทศจีน ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบ จากคำสั่งซื้อของลูกค้าในปัจจุบันยังไม่ได้ปรับลดลง โดย SAT จะส่งชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ 98% ส่งออกโดยตรง 2% รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยปัจจุบันสัดส่วนยอดขายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นมาเกือบ 50% และ ไทยส่งออกไปสหรัฐน้อยมาก รวมถึงรถที่ส่งออกไปสหรัฐไม่ใช่รถกระบะที่ใช้ชิ้นส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของ SAT อีกด้วย