เอเซีย พลัส มองเป้า SET Index ปีหน้าที่ 1,795 จุด พร้อมแนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นไทยเป็น 50%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 20, 2018 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เอเชีย พลัส มองเป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ในปี 62 ไว้ที่ 1,795 จุด พร้อมทั้งคาดการณ์กำไรสุทธิจะต่อหุ้น (EPS) ลดลงเหลือ 112.2 บาทต่อหุ้น จากเดิม 115 บาทต่อหุ้น โดยประเมินว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตเพียง 3.3% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันปี 62 ลง 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาที่ 65 เหรียญสหรัฐ/ต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ย 70.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 61 ส่งผลให้มีการปรับลดกำไรกลุ่มพลังงานลงกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังปรับลดกำไรกลุ่มปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง และกลุ่ม ICT ลงด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า Fund Flow มีโอกาสที่จะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรก หลังจากการเลือกตั้งมีความชัดเจน ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้เมื่อรัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งออกมาทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นไปราว 4.88% และมี Fund Flow ไหลเข้ามาราว 8.29 พันล้านบาท จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยเป็น 50% จากเดิมที่ 40%

นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมา หลังจากสหรัฐส่งสัญญาณปรับลดมาตรการ QE จนมาถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมูลค่ารวมสูงถึง 6.12 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติล่าสุดลดลงมาเหลือเพียง 29.57% แบ่งเป็นการถือครองที่ปิดโอนชื่อต่างชาติ 22.86% และถือครองผ่าน NVDR 6.71% โดยแรงขายของต่างชาติที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนการถือครองอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก จึงเชื่อว่า Fund Flow จะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเซีย

ขณะที่ปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยเริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากผู้นำทั้งสองประเทศเจรจากันในระหว่างการประชุม G20 เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 61 ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีท่าทีประนีประนอม โดยสหรัฐยอมเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐออกไป 90 วัน ขณะที่จีนยินยอมซื้อสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐเพิ่มขึ้น ส่วนรายละเอียดการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนรอบที่ 4 วงเงินอีก 2.67 แสนล้านเหรียญสหรัฐคาดว่าจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งในเดือน เม.ย. 62

"เชื่อว่าผลกระทบจากสงครามการค้า สะท้อนผ่านการปรับฐานของตลาดหุ้นโลกหลายแห่งไปมากพอควรแล้ว โดยเฉพาะฝั่งเอเซียที่ปรับฐานลงแรง โดยรวมจึงเชื่อว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 62 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น" นางภรณี กล่าว

นางภรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า สงครามการค้าคงจะมีผลกระทบเศรษฐกิจไทย ทำให้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวราว 3.5% ชะลอตัวลงจาก 4% ในปี 61 โดยภาคการส่งออกจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้น้อยลงนับจากนี้ แต่จะเห็นการลงทุนและการบริโภคครัวเรือมาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนนั้น คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จะยังเน้นไปที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สานต่อจากนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ส่วนการลงทุนภาครัฐน่าจะสานต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลชุดปัจจุลันได้วางแผนระยะยาวไว้แล้วเช่นกัน โดยคาดว่าในปี 62-65 จะมีเม็ดเงินจากการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจไทยอีกราว 2 ล้านล้านบาท หรือราว 83.4% ของวงเงินทั้งหมด หรือเฉลี่ยปีละ 5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคครัวเรือน จึงน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นางภรณี กล่าวอีกว่า แม้จะมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 62 จะเติบโตชะลอลงจากปี 61 แต่ไทยยังมีจุดแข็งจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศนานถึง 11 เดือน และยังครอบคลุมหนี้สินต่างประเทศได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเซีย ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ขณะที่การเมืองไทย หลังเห็นกำหนดการนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 แม้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้มีโอกาสได้รัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง ทำให้มีเสถียรภาพน้อย แต่การได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศได้ดีขึ้น

ส่วนทิศทางของอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศนั้น ขณะนี้แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มชะลอลง โดยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอ่อนตัวลงตั้งแต่เดือน เม.ย.61 บวกกับผลกระทบจากสงครามทางการค้าโลกกดดันกำลังซื้อ และราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลงรวดเร็ว ทำให้เชื่อว่าใกล้สิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (Bond yield) ของสหรัฐเริ่มปรับตัวลดลง สวนทางเอเชียบางประเทศที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพราะยังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลออก

นางภรณี กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกยังมีอยู่ จึงเน้นแนะนำให้เลือกลงทุนหุ้นรายตัวที่มีการเติบโตตามเศรษฐกิจในประเทศ และเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น KBANK,BBL หุ้นส่งออกที่ปรับตัวจากผลกระทบการค้าโลกได้ HANA หุ้นสาธารณูปโภค SCC, STEC, WHA หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภาคครัวเรือน ADVANC, DTAC, BJC, CPALL, PLANB


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ