ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ MAJOR ที่ "A" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 20, 2018 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ที่ระดับ "A" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัท ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั่วประเทศ และผลประกอบการที่ดีในธุรกิจสื่อและโฆษณาที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมทั้งความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ และการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย

บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 70% ของรายได้จากการฉายภาพยนตร์ในช่วงสัปดาห์แรก ทั้งนี้ การมีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดช่วยให้บริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ และผู้จัดหาสินค้าต่าง ๆ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำได้เนื่องจากบริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนโรงภาพยนต์ให้มากขึ้น โดยจะเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์ให้เป็น 1,000 จอภายในปี 2563 เมื่อเทียบกับจำนวน 748 จอ ณ เดือนกันยายน 2561 โดยบริษัทจะเพิ่มโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่

ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ของบริษัทตั้งอยู่ใน 38 จังหวัดในประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยโรงภาพยนตร์ของบริษัทตั้งอยู่กับห้างสรรพาสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่อยู่ในทำเลที่ดี เช่นมีจำนวนประชากรหนาแน่น

ผลการดำเนินงานขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉายและความนิยมของภาพยนตร์

รายได้จากผู้เข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉายรวมถึงคุณภาพและความนิยมของภาพยนตร์โดยเฉพาะภาพยนตร์ต่างประเทศ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้จากการฉายภาพยนตร์ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูดจะยังคงสร้างและฉายภาพยนตร์ที่ลงทุนสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนรายได้ของบริษัทโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดฤดูร้อนและช่วงวันหยุดปลายปี

ความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยจะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท บริษัทมีจำนวนจอภาพยนตร์จำนวนครึ่งหนึ่งตั้งอยู่ในต่างจังหวัดและผู้ชมภาพยนตร์ที่อยู่นอกเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครชื่นชอบภาพยนตร์ไทยมากกว่า บริษัทได้ร่วมมือกับผู้ร่วมทุนอีกหลายรายในการผลิตภาพยนตร์ไทยและจะออกฉายขั้นต่ำ 10 เรื่องต่อปี โดยจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายมากขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้จากโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดและลดความพึ่งพิงภาพยนตร์ฮอลลีวูดลง นอกจากนี้ ภาพยนตร์ไทยยังสามารถกำหนดให้เข้าฉายในช่วงที่มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ลงทุนสูงออกฉายน้อย บริษัทคาดว่ารายได้จากภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศจะเท่ากันในอนาคต อย่างไรก็ตามความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่บริษัทผลิตเองนั้นยังคงต้องได้รับการพิสูจน์

เผชิญกับการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ

ธุรกิจโรงภาพยนตร์เผชิญกับการแข่งขันจากกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นอย่างมากของความความบันเทิงผ่านระบบอินเทอร์เนตและผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนันทนาการในรูปแบบอื่นดังกล่าวก็ยังไม่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแม้ว่าจะมีการแพร่หลายของกิจกรรมนันทนาการประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้น แต่จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มากนัก

ธุรกิจโฆษณาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดหลัก

ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจโฆษณาจะยังคงสร้างกระแสเงินสดอย่างมีนัยสำคัญให้แก่บริษัท เนื่องจากธุรกิจสื่อและโฆษณามีค่าใช้จ่ายต่ำบริษัทจึงได้รับกระแสเงินสดจากธุรกิจดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจโฆษณาคิดเป็นประมาณ 50% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดของบริษัท

บริษัทเป็นที่ดึงดูดของนักโฆษณาเพราะมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากในหลากหลายพื้นที่และมีปริมาณลูกค้าจำนวนมาก บริษัทเสนอรูปแบบการโฆษณาได้หลากหลายรูปแบบเช่นการโฆษณาในโรงภาพยนตร์ จอโฆษณาบนผนัง และจอทีวีที่ติดตั้งบริเวณโรงภาพยนตร์ โดยผู้โฆษณายังสามารถใช้โรงภาพยนตร์ของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเป็นสถานที่ในการจัดงานกิจกรรมทางการตลาด ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโฆษณาจะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีในระหว่างปี 2562-2564

ภาระหนี้ปรับตัวดีขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวลดลงใน 2-3 ปีข้างหน้า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 3.5 เท่า โดยในช่วง 3 ปีข้างหน้าเงินลงทุนของบริษัทจะลดลงเป็นประมาณ 600 ล้านบาทต่อปีเนื่องจากต้นทุนในการลงทุนต่อจอภาพยนตร์ลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 2 เท่า ในปี 2564

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ณ เดือนกันยายน 2561 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดจำนวน 603 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกประมาณ 3,886 ล้านบาท ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับในช่วงอีก 12 เดือนต่อจากนี้ไปบริษัทจะมีภาระในการชำระหนี้จำนวน 2,734 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ระยะสั้นจำนวน 2,024 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีแผนจะต้องใช้งบลงทุนจำนวนประมาณ 600 ล้านบาทและบริษัทมีแผนการใช้เงินในการผลิตภาพยนตร์ประมาณ 150 ล้านบาท

บริษัทมีการลงทุนที่สำคัญในหลายบริษัทซึ่งได้แก่ บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (MPIC) บมจ. สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ (SF) และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ (MJLF) ณ เดือนกันยายน 2561 มูลค่าทางการตลาดของเงินลงทุนที่สำคัญของบริษัทอยู่ที่ 7,473 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าทางการตลาดที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมให้แก่บริษัทหากมีความต้องการเงินทุน

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ เดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 1.2 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 1.5 เท่าตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564 โดยอัตราการทำกำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 30% โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 50% ในปี 2564 เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะสูงกว่า 2,000 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่สูงกว่า 25% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่มากกว่า 5 เท่า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้ปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดได้เป็นอย่างมากและอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงตามคาด ในขณะที่อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากบริษัทมีการกู้ยืมเงินมาใช้ในการลงทุนจนส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ