นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 62 เติบโต 5-10% สูงกว่าปีนี้ที่จะเติบโตได้ 4% โดยธนาคารจะต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แต่ธนาคารก็ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยที่กลุ่มธุรกิจที่เป็นปัจจัยผลักดันการขยายตัวของสินเชื่อหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่ยังคงเห็นการเติบโตที่สูงไม่ต่ำกว่า 10% ต่อเนื่องจากปี 61 และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเห็นการเติบโตที่ดีแม้ว่าจะเติบโตไม่เกิน 10% ก็ตาม เนื่องจากสินเชี่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นการเติบโตจากฐานที่ใหญ่ โดยที่การเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่จะออกมา ซึ่งจะทำให้มีความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอียังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่มากจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอียังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจ แต่ธนาคารจะพยายามผลักดันการขยายการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีให้เติบโตมากขึ้น หลังจากที่ปี 61 สินเชื่อเอสเอ็มอีลดลงไปมาก ซึ่งในปี 62 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีโตราว 10% โดยที่จะการนำระบบ Credit Center มาใช้เพื่อการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อของลูกค้าเอสเอ็มอีที่มาขอสินเชื่อ ทำให้คุณภาพของสินเชื่อเอสเอ็มอีดีขึ้น และลดความเสี่ยงการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามในด้านของการควบคุมคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ลดลงมาต่ำกว่า 5% มาอยู่ที่ 4.3-4.4% ซึ่งธนาคารพยายามจะทำให้ NPL ของธนาคารอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันหรือมีโอกาสต่ำกว่าเล็กน้อย ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าคุณภาพสินเชื่อของธนาคารดีขึ้นมาก และไม่ค่อยเห็นการเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น มีเพียงหนี้เสียก้อนใหญ่ในอดีตเท่านั้นที่ทำให้ NPL ของธนาคารอยู่ในระดับที่ยังสูงอยู่ อีกทั้งธนาคารยังคงมีแผนการขายหนี้เสียออกไปบางส่วนในปี 62 มูลค่า 1-2 พันล้านบาท ลดลงจากปีนี้ที่ขายหนี้เสียไป 3-4 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารจะมีระดับหนี้เสียที่บริหารเองอยู่ทีท 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท
การที่ NPL ของธนาคารมีแนวโน้มลดลงนั้นส่งผลบวกต่อการตั้งสำรองฯในปี 62 ที่จะมีการตั้งสำรองต่อไตรมาสลดลงจากปีนี้ที่ตั้งสำรองเฉลี่ยอยู่ที่ 1 พันล้านบาท/ไตรมาส และในปี 62 คาดว่าจะตั้งสำรองฯต่ำกว่า 1 พันล้านบาท/ไตรมาส โดยที่การตั้งสำรองฯในไตรมาส 4/61 จะมีการตั้งสูงขึ้นกว่าปกติ เพราะธนาคารมีรายการตั้งสำรองเพิ่มเติมจากการที่ธนาคารได้เพิ่มการตั้งสำรองจากเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ไว้ล่วงหน้า แม้ว่ามาตรฐานบัญชี IFRS9 จะเลื่อนมีผลบังคับใช้ไปเป็นปี 63 ก็ตาม แต่ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ทำให้ในไตรมาส 4/61 จะตั้งสำรองสูงขึ้นเป็นกว่า 1 พันล้านบาท
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในขณะนี้ยังไม่มีแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ เพราะธนาคารเป็นธนาคารขนาดเล็ก ไม่ควรที่จะเป็นผู้นำในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องรอดูธนาคารขนาดใหญ่ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งการที่ธนาคารยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารในปี 62 ยังอยู่ในระดับที่ทรงตัวจากปีนี้ที่ 3.7-3.8%
แนวโน้มกำไรของธนาคารมีโอกาสที่จะสูงขึ้น เนื่องจากการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆที่ธนาคารสามารถทำได้คล่องตัว เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีพนักงานและจำนวนสาขาไม่มากเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้การดำเนินงานต่างๆมีความคล่องตัวและปรับตัวได้ง่ายกว่าธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการตั้งสำรองฯที่ลดลงตามหนี้เสียที่มีคุณภาพดีขึ้น ส่งผลให้ Credit Cost ในปี 62 ลดลงต่ำกว่า 2% ส่งผลบวกต่อกำไรในปี 62 ที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้น
"CIMBT ยังคงเดินหน้าผลักดันการขึ้นเป็นธนาคารระดับกลางใน 5 ปี หรือภายในปี 65 ตามเป้าหมาย ซึ่งในปี 62 เราก็มีความพร้อมมากขึ้น แต่ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งคาดเดายาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังเพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินงานของธนาคาร ซึ่งหากไม่มีปัจจัยที่ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจแย่ลง เป้าหมายในปีหน้าที่เราตั้งไว้ก็คงเป็นไปตามเป้า ส่วนโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต ก็มองโอกาสอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการอื่น แต่ขอมองที่ความพร้อมของตัวเราเองเป็นหลักก่อน ซึ่งคาดว่าปลายปี 62 เราจะเริ่มมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจต่อไปอีกครั้ง"นายกิตติพันธ์ กล่าว