นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า คณะทำงานศึกษาการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์(MHz) จะสรุปราคามูลค่าคลื่นที่ชัดเจนได้ภายในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ เพื่อนำไปจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประมูลไปรับฟังความเห็นสาธารณะ ตามกรอบเวลาในการประมูลคลื่น 700 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในเดือนมี.ค.นี้
ทั้งนี้ในการพิจารณาเกี่ยวกับการปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ให้ทั้งระบบมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนจากการประมูลคลื่นด้วยการเคาะราคาจากราคาเริ่มต้น โดยผู้ชนะคือผู้ที่เสนอราคาสูงสุด แต่ด้วยภาวะของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการมีภาระหนี้จากการประมูลครั้งก่อนมากถึงรายละ 50,000-100,000 ล้านบาท โดยได้มีการเสนอในคณะทำงานที่จะเปลี่ยนวิธีการประมูลคลื่นความถือ โดยใช้การพิจารณาแบบ บิวตี้คอนเทสต์ หรือ การประมูลคลื่นโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ใครเสนอให้ประชาชนใช้ราคาค่าบริการต่ำสุด เข้าสู่ 5จีเร็วสุด ขยายโครงข่ายเร็วสุด ชนะการประมูลโดยคำนึงราคาประมูลให้น้อยที่สุด โดยคณะทำงานฯระบุว่า หากเดินตามนี่น่าจะทำให้ไทยเข้าสู่ยุค 5G ทันกำหนดแน่นอนการปรับเปลี่ยนวิธีประมูลหากมีการปรับเปลี่ยนการประมูลเป็นบิวตี้คอนเทสต์ อาจทำให้กระบวนการประมูลคลื่นความถี่ล่าช้า น่าจะพอเริ่มหรือร่างหลักเกณฑ์ได้ในคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์
อย่างไรก็ดี กสทช.จะได้กำหนดแผนการจัดประมูลคลื่นความถี่ประจำปี 2562 ไว้ว่า จะนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ประมาณ 45 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูล โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูล โดยอยู่ในขั้นตอนของการประเมินราคาเริ่มต้นและเงื่อนไขของการประมูล เช่น ใบอนุญาตจะเป็นใบใหญ่ที่มีปริมาณคลื่นมาก หรือใบเล็กที่ปริมาณคลื่นน้อย โดยคาดข้อสรุปจะได้ในเดือนม.ค.นี้ หลังที่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว และคลื่นความถี่ย่าน 2.6 กิกะเฮิรตซ์คู่กับย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์และ 28 กิกะเฮิรตซ์โดยมีการประมูลร่วมกัน หรือ มัลติแบนด์ ย่าน 2.6 กิกะเฮิรตซ์โดยมีปริมาณคลื่นสูงสุด 190 เมกะเฮิรตซ์ ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ และ 28 กิกะเฮิรตซ์โดยมีปริมาณคลื่นไม่น้อยกว่า 3000 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งหมดนี้ สำนักงาน กสทช. คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จในปี 2562